ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้73-78เหรียญสหรัฐฯ

ผู้ชมทั้งหมด 913 

ไทยออยล์ ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในสัปดาห์นี้ ( 28 มิ.ย.– 2 ก.ค. 64) ยังทรงตัวในระดับสูง หลังผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และยุโรป

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในสัปดาห์นี้ ( 28 มิ.ย.– 2 ก.ค. 64) ยังทรงตัวในระดับสูง โดยคาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และยุโรป หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูมิภาคลดลงต่อเนื่องจากความคืบหน้าการแจกจ่ายวัคซีน โดยตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนล่าสุด ณ วันที่ 24 มิ.ย. เพิ่มเป็น 49.8% และ 37.4% ของจำนวนประชากรในสหรัฐฯ และยุโรปตามลำดับ

นอกจากนี้สหภาพยุโรปมีการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับผู้ถือวัคซีนพาร์สปอร์ต (EU Digital COVID Certificate) อย่างเป็นทางการวันที่ 1 ก.ค. 64 เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางภายใน 18 ประเทศกลุ่มสมาชิกได้โดยไม่ต้องกักตัว เพิ่มจาก 7 ประเทศที่มีการทดลองใช้นโยบายนี้ไปแล้วก่อนหน้า

สำหรับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 แตะระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 ปี หลังจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯฟื้นตัวจากตัวเลขผู้ใช้รถใช้ถนนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 64 ปรับตัวลดลง 7.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.9 ล้านบาร์เรล

ขณะที่ Bank of America (BofA) ปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้าจาก 63 ดอลลาร์ต่อบาเรล เป็น 68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็น 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาจะได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าอุปทานที่เข้ามาในตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ BofA ยังคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะสามารถขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ภายในปี 2565

การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจยังคงไม่มีข้อสรุปหลังจากการหารือมาแล้วถึง 6 ครั้ง เนื่องจากยังไม่สามารถหาทางออกสำหรับสาระสำคัญของข้อตกลงดังกล่าวได้ ล่าสุดนาย Ebrahim Raisi ได้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดีคนก่อนในวันที่ 3 ส.ค. โดยตลาดคาดนาย Ebrahim Raisi จะพยายามที่จะเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนี้ให้สำเร็จเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยการกลับมาส่งออกน้ำมันดิบซึ่งปัจจุบันยังคงถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังติดตามผลการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร ในวันที่ 1 ก.ค. 64 (18th OPEC and Non-OPEC Ministerial Meeting) ที่จัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำมัน รวมถึงพิจารณาการปรับระดับการผลิตในเดือนถัดไป โดยก่อนการประชุมที่เกิดขึ้น ทางกลุ่มโอเปกพลัสมีการส่งสัญญาณที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจัยความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ขณะที่รัสเซียได้มีการขอเจรจากับทางกลุ่มเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ตลาดคาดว่าทางกลุ่มจะมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไปในการประชุมที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตามตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูมิภาคยังคงเป็นที่น่ากังวล โดยล่าสุดรัฐบาลอินโดนีเชียประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์เพิ่มเติมในหลายพื้นที่หลังผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี นอกจากนี้มีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ Delta Plus ในประเทศอินเดียซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์อินเดีย Delta โดยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม