“ไทยออยล์”ชี้ราคาน้ำมันดิบมีลุ้นแตะระดับ80เหรียญสหรัฐฯ

ผู้ชมทั้งหมด 686 

“ไทยออยล์” ประเมินราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังอุปทานมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ (5 – 9 ก.ค. 64) มีแนวทรงตัวในระดับสูง โดยน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่ากลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย Goldman Sachs คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มแตะระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากตลาดที่มีแนวโน้มขาดดุล

ขณะที่ Citi Bank คาดการณ์ว่า ภายในไตรมาส 3 ราคามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แม้ว่ากลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นก็ตาม จากตลาดที่มีแนวโน้มขาดดุล เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. นี้

กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแผนที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ส.ค. ถึงเดือน ธ.ค. หรือคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อเดือนที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันและการส่งออกของอิหร่านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงหากไม่มีการพิจารณาปริมาณการผลิตอ้างอิง (baseline production) ก่อนเนื่องจากระดับปัจจุบันอยู่ที่เพียง 3.168 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากเทียบกับกำลังการผลิตปัจจุบันที่ 3.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้และจะกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ค.

ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มิ.ย. 64 ปรับตัวลดลง 6.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นสูงขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดและความต้องการใช้น้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ส่งผลให้ต้องมีการประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ การติดเชื้อในอังกฤษมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ซึ่งมีความสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้หลายประเทศอาทิเช่น เยอรมัน และฮ่องกง เป็นต้น มีการประกาศห้ามการเดินทางจากอังกฤษ

ส่วนการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจยังคงไม่มีความคืบหน้าและยังขาดกำหนดการที่ชัดเจนสำหรับการประชุมในครั้งถัดไปซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งที่ 7 หลังก่อนหน้านี้มีการเจรจากันมาแล้วถึง 6 ครั้งแต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ นอกจากนี้ ความตึงเครียดยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังอิหร่านยังคงไม่ดำเนินการต่อสัญญาการส่งมอบข้อมูลด้านการพัฒนานิวเคลียร์ให้กับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งหมดลงตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทาง IAEA จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเพื่อดำเนินการตรวจสอบได้เลย

สำหรับเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจีน เดือน มิ.ย. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการยูโรโซน เดือน มิ.ย. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 64 และรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ