“ไทยออยล์”ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังทรงตัว

ผู้ชมทั้งหมด 734 

“ไทยออยล์” ประเมินราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ยังทรงตัวหลังกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19สายพันธุ์เดลต้าในหลายพื้นที่ทั่วโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง โดยคาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้ ( 26 – 30 ก.ค. 64) จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ เนื่องจาก็กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและประเทศพันธมิตรหรือโอเปกพลัสสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับเดือน ส.ค. ถึงเดือน ธ.ค.64 ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.64 โดยทางกลุ่มมีมติที่จะปรับเพิ่มการผลิตเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับอุปสงค์ที่ทางกลุ่มเชื่อมั่นว่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยทางกลุ่มจะเริ่มปรับเพิ่มกำลังการผลิตเริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค.64 เป็นต้นไป จนกว่าระดับการผลิตที่ทางกลุ่มมีการปรับลดตั้งแต่ต้นปี 64 จะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.65 นอกจากนี้ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงที่จะปรับเพิ่มระดับการผลิตอ้างอิง (baseline production) ให้กับบางประเทศสมาชิกซึ่งประกอบไปด้วยคูเวต ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ รัซเซีย รวม 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันมีผลเริ่มใช้ในเดือน พ.ค.65 เป็นต้นไป ทั้งนี้ทางกลุ่มจะมีการจัดประชุมรายเดือนเพื่อประเมินสถานการณ์ตลาดต่อไปโดยการประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 1 ก.ย. 64

นอกจากนี้ตลาดได้รับแรงกดดันจากการที่ทั่วโลกมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปเพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าจะมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนในภูมิภาคแล้วอย่างมาก ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศ เช่น สเปนและเนเธอร์แลนด์ประกาศกลับมาใช้มาตรการจำกัดการเดินทางอีกครั้งเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวแม้ว่าจะมีการเปิดประเทศไปแล้วก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม ประกอบกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน

ส่วนอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย หลังจำนวนแท่นขุดเขาะน้ำมันดิบสหรัฐฯรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับ 380 แท่น สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ก.ค. 64 ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ค. 64 ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องราว 2.1 ล้านบาร์เรลสู่ระดับ 439.7 ล้านบาร์เรลสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดราว 4.5 ล้านบาร์เรล

สำหรับอีกปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมัน อิหร่านมีการเปิดท่าเรือขนส่งน้ำมันแห่งใหม่ที่ Bandar-e Jask บริเวณอ่าวโอมานอย่างเป็นทางการหลังโครงการสร้างท่อขนส่งน้ำมันสาย Goreh-Jask ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยเส้นทางการลำเลียงน้ำมันดิบของท่อขนส่งน้ำมันสายนี้จะตัดผ่านบริเวณแหลมฮอร์มุซไปยังปากอ่าวโอมานโดยตรง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งน้ำมันดิบ

โดยอิหร่านตั้งเป้าที่จะส่งออกน้ำมันดิบราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันหากสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการขนส่งออกน้ำมันต่ออิหร่าน อย่างไรก็ตามการประชุมเพื่อเจรจรารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจยังจะคงถูกชะงักไปจนกว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านจะมาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค.64

ขณะที่สถาบันโกลด์แมน แซคส์ปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สำหรับช่วงไตรมาสที่ 3 ลดลง 5 เหรียญต่อบาร์เรลอยู่ที่ระดับ 75 เหรียญต่อบาร์เรลจากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าทั่วโลก อย่างไรก็ตาม โกลด์แมน แซคส์คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญต่อบาร์เรลได้ในช่วงไตมาสที่ 4 ปีนี้

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายเงินยูโรของ 19 ประเทศในสหภาพยุโรปที่ระดับ 0% ซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับธนาคารพาณิชย์ต่อธนาคารกลางอยู่ที่ระดับ -0.5% และอัตราเงินกู้อยู่ที่ระดับ 0.25%

นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรปประกาศคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการฉุกเฉินโควิด-19 (Pandemic Emergency Purchase Programme) ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโรต่อไปจนถึงเดือน มี.ค.65 โดยมติจากการประชุมของธนาคารกลางยุโรปจะส่งผลดีต่อภาพเศรษฐกิจที่จะขยายตัวต่อเนื่อง และสามารถช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน

ส่วนเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ แถลงการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ และ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไตรมาสที่ 2 ยูโรโซน