ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวน จับตาจีดีพีสหรัฐฯ – ยุโรป

ผู้ชมทั้งหมด 405 

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวน ตลาดจับตาจีดีพีของสหรัฐฯ และยุโรปที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ท่ามกลาง GDP จีนที่โตกว่าคาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ (24 – 28 เม.ย. 66) โดยคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน ตลาดจับตาการประกาศตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ และยุโรป ที่จะประกาศในช่วงสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าจะปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อที่ระดับ 25 bps ในการประชุมเดือน พ.ค. 2566

นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตาการกลับมาดำเนินการของท่อส่งน้ำมัน Kirkuk-Ceyhan และการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยคลายความกังวลต่ออุปทานตึงตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์ว่าจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการประกาศตัวเลขจีดีพีของจีนประจำไตรมาส 1/66 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.5 % สูงกว่าคาดที่ 4.0 % ประกอบกับการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศขึ้นอีก 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอุปทานจาก OPEC+ ที่คาดจะปรับลดลง เนื่องจากมีการประกาศลดกำลังการผลิต ทั้งนี้ฝ่ายวิเคราะห์ไทยออยล์ได้ประเมินราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72- 82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76- 86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดจับตาการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/66 ของสหรัฐฯ (27 เม.ย.) และยุโรป (28 เม.ย.) ที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง โดย GDP สหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงจาก 2.6 % มาอยู่ที่ 2 % จากผลกระทบของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดยังคาดการณ์ว่าการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 2 – 3 พ.ค. มีแนวโน้มที่เฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% หรือ 25 bps แม้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 66 ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 5.0 % Y-o-Y ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 6.0 % และอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (Core CPI) ลดลงจาก 0.5 % สู่ 0.4 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกัน ดังนั้น การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย กดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก

ตลาดจับตาการกลับมาส่งออกน้ำมันของท่อ Kirkuk-Ceyhan จากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสสถานไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี แม้ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ แต่ยังคงติดเงื่อนไขที่ตุรกีต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอิรักมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ในปัจจุบันยังคงไม่สามารถส่งออกได้ อย่างไรก็ตามหากท่อส่งน้ำมันสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติจะส่งผลให้ตลาดผ่อนคลายกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบตึงตัว โดยท่อส่งน้ำมันนี้คิดเป็น 0.5 % ของอุปทานน้ำมันดิบโลก

รายงาน EIA เดือน เม.ย. 66 คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2566 ซึ่งมากกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562 ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 14 เม.ย. 66 รายงานโดย Baker Hughes ปรับตัวลดลง 2 แท่นสู่ระดับ 588 แท่น

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัว 4.5% ในไตรมาส 1/66 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.0% และสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 2.9 % หลังการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ของจีนในเดือน ม.ค. 66 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน IEA เดือน มี.ค. 66 ที่มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันจีนขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2566

ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแรงสนับสนุนจากการปรับลดการผลิตของสมาชิก OPEC+ ต่อเนื่อง โดยล่าสุดองค์กร Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุฯ เดือน ก.พ. 66 ปรับตัวลดลง 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 7.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการผลิตภายในประเทศที่ปรับลดลง 0.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีการส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 เม.ย. 66 เพิ่มขึ้น 0.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 3.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/66 ซึ่งตลาดคาดจะปรับลดลง และคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน มี.ค. 66 และตัวเลข GDP ไตรมาส 1/66 ของยุโรป