ไทยออยล์ คาดแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ 20 ก.พ. – 24 ก.พ. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ผู้ชมทั้งหมด 382 

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบคาดแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ 20 ก.พ. – 24 ก.พ. 66 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับเพิ่มขึ้นในประเทศจีน โดยใน รายงานประจำเดือน ก.พ. กลุ่มโอเปก (OPEC) ปรับเพิ่มประมาณการความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2566 ขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากรายงานในเดือนก่อนหน้า โดยคาดว่าปริมาณการใช้ทั้งปีจะเพิ่มขึ้นราว 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 2.3% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ปริมาณการผลิตจากรัสเซียมีแนวโน้มปรับลดลงในเดือน มี.ค. 2566 เนื่องจากรัสเซียจะประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 2566 ลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพื่อตอบโต้มาตราการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปและมาตรการกำหนดเพดานราคาของกลุ่ม G7 และสหภาพยุโรป

ส่วนปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นกันต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในประเทศ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สำหรับสิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 10 ก.พ. 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 471.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ มิ.ย. 2564 หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการกลั่นลง 0.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 15.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้สหรัฐฯ ประกาศแผนการระบายน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ในเดือน เม.ย. – มิ.ย. 2566 ที่ราว 26 ล้านบาร์เรล เพื่อสกัดการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา โดยการปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุมัติให้ปล่อยน้ำมันออกจากคลังที่ได้รับมอบอำนาจจากสภาคองเกรสในก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันปริมาณน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์อยู่ที่ 372 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1983

ในขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องในการประชุม 3 ครั้งถัดไป เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงกลับมาอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯในเดือน ม.ค. 2566 ปรับเพิ่มขึ้น 6.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 6.2% และนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯ (Core CPI) ยังคงอยู่ที่ระดับสูงที่ราว 5.6% ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 5.5%

ตลาดเริ่มคลายกังวลต่ออุปทานตึงตัว หลังตุรกีสามารถกลับมาดำเนินการส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่าเรือ Ceyhan ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันได้แล้ว หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิรักและอาเซอร์ไบจาน โดยอาเซอร์ไบจานมีการส่งออกผ่านท่อขนส่ง Baku-Tbilisi-Ceyhan (BTC) มายังตุรกีที่ราว 0.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้านเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 2566 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน ในเดือน ก.พ. 2566 และ GDP ไตรมาส 4/2565 ของสหรัฐฯ