ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบยังทรงในระดับสูง จับตามาตรการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย

ผู้ชมทั้งหมด 884 

ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังทรงในระดับสูง จับตามาตรการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย ของสหภาพยุโรป คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 108-118 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่ 110-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ผู้ข่าวรายงานว่า นักวิเคราะห์บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินทิศทางราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ (16 – 20 พ.ค. 65) ว่า ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 108-118 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 110-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ คือ สหภาพยุโรปยังคงไม่ สามารถหาข้อสรุปเรื่องการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันรัสเซียได้ เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับมติเอกฉันท์จากสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศ และยังมีประเทศสมาชิกที่ไม่ยอมรับการคว่ำบาตรนี้ เช่น ฮังการีเนื่องจากกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ฮังการีเสนอว่าหากมีการสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อช่วยให้ฮังการีลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ฮังการีอาจจะพิจารณาข้อเสนอการคว่ำบาตรดังกล่าว

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังคาดราคาน้ำมันเบรนท์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2/65 หลังตลาดยังอยู่ในภาวะตึงตัวจากอุปทานน้ำมันดิบรัสเซียมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร ประกอบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังหลายประเทศคลายมาตรการล็อคดาวน์ โดย Bank of America คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวเพิ่มราว 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากไตรมาส 1/65 แตะระดับ 110 เหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/65 และ JP Morgan ที่คาดว่าราคาจะแตะระดับ 114 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 2/65

ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรัสเซียกลับมีแผนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. หลังมีผู้ซื้อหลายรายสนใจ เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่น โดยปริมาณการผลิตรัสเซียในช่วง 1-3 พ.ค. ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. แตะระดับ 1.402 ล้านตันต่อวัน หรือราว 10.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้นรัสเซียกำลังพิจารณาขยายท่าส่งออก และกำลังการขนส่งผ่านท่อไปยังตะวันออกไกล เพื่อรองรับความต้องการที่อาจเพิ่มขึ้นหลังคลายล๊อคดาวน์

ส่วนการประชุม G7 ในวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประกาศที่จะลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เมื่อถึงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานพลังงานภายในประเทศและราคาพลังงาน ล่าสุดโรงกลั่นน้ำมัน ENEOS และ Idemitsu Kosan เลื่อนการลงนามสัญญาซื้อน้ำมันจากรัสเซีย โดยญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียราว 4% และจากตะวันออกกลางราว 92%

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในจีนยังคงน่ากังวล หลังบังคับใช้มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นโดยเฉพาะที่เซี่ยงไฮ้ ภายใต้นโยบาย Zero Covid ส่งผลให้ธุรกิจปิดทำการและไร้นักท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก มีแนวโน้มอ่อนตัวลง กดดันราคาน้ำมันดิบ

ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปีก่อนหน้า แตะระดับเฉลี่ยที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าการผลิตจะกลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ได้ในไตรมาส 4/65 หลังราคายืนตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จูงใจในผู้ผลิตเพิ่มปริมาณการผลิตและการลงทุน

รายงานสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ หรือ EIA เดือน พ.ค. ปรับลดความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 65 ลง 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับรายงานเดือน เม.ย. มาอยู่ที่ 99.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยความต้องการใช้ถูกกดดันอย่างมากในไตรมาส 1 และ 2 เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างต่อเนื่องของจีน

ส่วนเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีกลุ่มยูโรโซนไตรมาส 1/65 ตลาดคาดว่าจะปรับลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 การตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ยธนาคารจีน ปริมาณการค้าปลีกจีนเดือน เม.ย. โดยมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า