TOP ฉายภาพธุรกิจครึ่งหลังปี 2567 สดใส งัดกลยุทธ์ 3Vs ขับเคลื่อนการเติบโต 

ผู้ชมทั้งหมด 544 

ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี 2567 โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันเครื่อง(Jet) ที่เพิ่มขึ้นราว 6.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นแลปิโตรเคมีครบวงจรของไทย ประเมินว่า ไตรมาส 3 ปี 2567 ค่าการกลั่น(GRM) เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในฤดูต่างๆ โดยเฉพาะฤดูร้อน ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดน้ำมันดิบ อุปทานยังตึงตัวจากการที่กลุ่มโอเปกขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 3 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากไตรมาส2 ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 3 ปี2567 มีปัจจัยที่ต้องติดตาม 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย

1. ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่อาจลุกลามในวงกว้างและส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบ

2. สถานการณ์พายุเฮอริเคน ในมหาสมุทรแอตแลนติกในปีนี้ที่อาจรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมันดิบ หรือ ค่าการกลั่นได้ หากส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก หรือส่งผลต่อโรงกลั่นทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

3.ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีแนวโน้มปรรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในการประชุมในเดือนก.ย.2567 หลังพบว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเริ่มปรับสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีผลต่อการใช้น้ำมันในภาพรวม

สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ “ไทยออยล์”ยังยึดแนวทางกลยุทธ์หลัก 3V ได้แก่

1.Value Maximization ที่เป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี อย่าง โครงการพลังงานสะอาด หรือ Clean Fuel Project (CFP) ปัจจุบัน มีความคืบหน้าแล้ว 97% โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักร โครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ที่สำคัญได้ถูกนําเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือ COD ได้ประมาณปีหน้า

และ โครงการ Petrochemical Complex (CAP) ที่เป็นการขยายการเติบโตในธุรกิจโอเลฟินส์ ที่ล่าสุดในช่วงเดือนพ.ค.2567 ทางบริษัท PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ร่วมลงทุนและเข้าซื้อสินทรัพย์ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีของบริษัท Shell ในสิงคโปร์ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ CAP ที่จะเติบโตในธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยการเพิ่มกำลังการกลั่นจากแผนSynergy ดังกล่าว พร้อมกับมีแผนขยายการเติบโตออกไปยังภูมิภาคมากขึ้น และสอดคล้องกับกลยุทธ์ของไทยออยล์ ที่ต้องการเติบโตในธุรกิจโอเลฟินส์

2.Value Enhancement ที่มุ่งเน้นการเติบโต ด้วยการขยายตลาด และกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะใน 3 ประเทศเป้าหมาย คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูง ปัจจุบัน การลงทุนในเวียดนาม ผ่านบริษัท ท็อป โซลเว้นท์ (เวียดนาม) ไลอะบิลลิตี้ จำกัด (TSV) มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง(Tanks)ถังเก็บสารทำละลายและเคมีภัณฑ์เพิ่ม ทำให้ความจุของถังเพิ่มขึ้น 70% สามารถเพิ่มยอดขายของท็อป โซลเว้นท์ ได้ถึง 20-30% ซึ่งถังดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี2567

3. Value Diversification การพอร์ตโฟลิโอของไทยออยล์ ไปยังธุรกิจใหม่ ซึ่งในความสำคัญอยู่ 2 กลุ่ม คือธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High Value Business) และธุรกิจ New S-Curve อื่นๆ ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ธุรกิจสารเคมีที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค สารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (Disinfectants & Surfactants) เป็นต้น ซึ่งในส่วนของธุรกิจใหม่ กำลังศึกษาเรื่องของไบโอชีวภาพ และที่มีความร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาธุรกิจไฮโดรเจน และธุรกิจกักเก็บคาร์บอน (CCS) เป็นต้น

นางสาวทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผน การเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ระบุว่า บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี2567 มาจากแนวโน้มธุรกิจโรงกลั่นที่คาดว่าค่าการกลั่นจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่จะเป็นส่วนสำคัญทำให้กำไรขั้นต้นจากการกลั่นของบริษัทปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมีที่ฟื้นตัว ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้บริษัทไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่เหมือนกับช่วงครึ่งปีแรก

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าจะฟื้นขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มอะโรเมติกส์ ทั้งพาราไซลีน (PX) และเบนซีน (BZ) ความต้องการใช้ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มโอเลฟินส์มองว่ายังท้าทาย เพราะมีแรงกดดันจากกำลังการผลิตที่เข้ามาค่อนข้างมากจากของจีนและอินเดีย ขณะที่ Base Oil คาดจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย จากซัพพลายใหม่ที่ทยอยเข้ามา

ส่วนงบลงทุนของไทยออยล์ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะใช้ขยายการลงทุนตามแผนงาน โดยในปี 2567 บริษัทตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 702 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับโครงการ CFP อยู่ที่ 552 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพในโรงกลั่น 146 ล้านดอลลาร์ และปี 2568 จะใช้สำหรับลงทุนในโครงการ CFP และเตรียมไว้ลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์ใน CAP 2 โดยผ่านการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ประมาณ 270 ล้านดอลลาร์ฯ

ทิศทางธุรกิจหากมองไปใน 2-3 ปีข้างหน้า ในส่วนของกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดจะน้อยลง และโครงการ CFP ของไทยออยล์ จะเป็นตัวช่วย หรือ game changers ที่สำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ

เช่นเดียวกับ นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่ประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นในช่วงครึ่งหลังของปี มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากไตรมาสที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ทั้งในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ การเดินทางทางอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อน ทั้งนี้ ค่าการกลั่นยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังที่แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 5 ปี

นอกจากนี้ ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์พายุเฮอริเคนในทะเลแอตแลนติกที่คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งอุปสงค์และอุปทาน อย่างไรก็ตาม การเปิดดำเนินการของโรงกลั่นใหม่ในแอฟริกาจะส่งผลกดดันให้ค่าการกลั่นปรับเพิ่มขึ้นในระดับที่จำกัด ขณะที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก อันเนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ และจีนที่ไม่ดีนัก อาจกดดันราคาน้ำมันดิบในครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม ไทยออยล์จะติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ Megatrends เพื่อต่อยอดไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนระดับองค์กร 100 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”