ผู้ชมทั้งหมด 153
ไทยออยล์ คาด ไตรมาส4 ปีนี้ ธุรกิจโรงกลั่นฯปรับตัวดีขึ้น รับปัจจัยบวกเข้าสู่ฤดูหนาว-ท่องเที่ยวปลายปีหนุนดีมานด์ เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 4,218 ล้านบาท จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวลดลง และการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ ในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังปรับลดลงจากไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานกับราคาน้ำมันดิบดูไบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
“ปี 2568 ถึงแม้ว่าอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปจะเพิ่มขึ้น แต่อุปทานจากโรงกลั่นน้ำมันใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งจากในประเทศจีน และเม็กซิโก ที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปีนี้และปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าการกลั่นปรับเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด”
ทั้งนี้ ไทยออยล์จะติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทาง การแข่งขันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ตลอดจนแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ Megatrends เพื่อมุ่งเติบโตเป็นองค์กร 100 ปี อย่างมั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 กลุ่มไทยออยล์ ขาดทุนสุทธิ 4,218 ล้านบาท สาเหตุจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันช่วงฤดูกาลขับขี่ในประเทศสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีอุปทานเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมันใหม่ ทำให้ระดับน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศจีนยังคงอ่อนแอในส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับตัวลดลงเช่นกันจากส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับลดลงจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีนที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปรับลดลงเล็กน้อยจากอุปสงค์ที่ถูกกดดันในช่วงฤดูมรสุมในประเทศอินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานปรับตัวดีขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันเตาที่ลดลง
ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2567 ปรับลดลงจากราคาเฉลี่ยในไตรมาส 2/2567 จากตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศจีนต่ำกว่าคาดการณ์ รวมถึงการหดตัวของภาคการผลิต (PMI) ในประเทศสหรัฐฯ และจีน ทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกเติบโตในระดับจำกัด ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,380 ล้านบาท หรือ 5.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 7.0เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาส 2 ของปี 2567”