ผู้ชมทั้งหมด 916
การเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ที่เผชิญความท้าทายจากปัจจัยต่างๆ ทั้ง นโยบายการเมืองระหว่างประเทศ พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น การให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธุรกิจมีการแข่งขันมากขึ้น
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือPTT บริษัทพลังงานยักษ์ของไทย และเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของไทย ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทลูกของ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน รวมถึงการหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปในอนาคต คาดว่า แนวทางการปรับโครงสร้างธุรกิจจะมีความชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2568
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ระบุว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2568 ปตท. จะกลับมาโฟกัสในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) และ ธุรกิจก๊าซที่ยังมีการเติบโตได้ดี และเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจของปตท. ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization) โดยผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate Resilience Business ปรับพอร์ตธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน Carbon-Concious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือการใช้เทคโนโลยี CCS ( Carbon Capture and Storage)
โดยในระยะยาว ปตท.จะเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CCS และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม รวมถึงการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม
เบื้องต้น ธุรกิจรถไฟฟ้า(EV) จะเร่งขยายการลงทุนในส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยจะทำในลักษณะซิงเกิลแบรนด์ พร้อมปรับพอร์ตธุรกิจ และทบทวนแผนการลงทุนพัฒนาแพลต์ฟอร์มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้ร่วมทุนกับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มฐานรถ EV มูลค่าลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบันระหว่างการก่อสร้างนั้น ในส่วนนี้ เบื้องต้นจะให้ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจเนื่องจากมีความเชี่ยวชาญมากกว่า แต่รูปแบบธุรกิจในอนาคตจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรนั้นยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน ขณะที่ธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับEV ก็จะต้องมีการทบทวนความเหมาะสมเช่นกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจ Life Science ที่มีการลงทุนผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ทำธุรกิจด้านยาเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เบื่องต้น มีแนวคิดที่จะ Spin-Off (การที่บริษัทแม่แยกส่วนธุรกิจบางส่วนของตนเองออกมา โดยส่วนที่แยกออกมาเป็นบริษัทใหม่) โดยอาจหาพันธมิตรเข้ามาเสริมธุรกิจ และมีนโยบายให้สามารถจัดหาเงินทุนได้ด้วยตัวเอง หรือมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต คาดว่า จะมีคาดชัดเจนในต้นปี2568
ส่วนธุรกิจไฟฟ้า ที่ดำเนินการ GPSC ซึ่งเดิมเคยกำหนดเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าราว 1.5 หมื่นเมกะวัตต์นั้น จะให้ความสำคัญที่การเติบโตของธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ลดการปล่อยคาร์บอน เลือกลงทุนเชื้อเพลิงสะอาดแทนการให้ความสำคัญที่จำนวนเมกะวัตต์ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 คาดว่า ในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) มีแนวโน้มดีขึ้นจากปีนี้ โดยในส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้การดำเนินงานของ ปตท.สผ. คาดปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าจะยังทรงตัว โดยได้ผ่านจุดต่ำสุดของธุรกิจขาลงในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 ไปแล้ว ส่วนธุรกิจโรงกลั่นฯ จะยังมีมาร์จิ้นต่ำอยู่ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไป
“ปี 2568 ปตท.จะยังมุ่งลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีนี้ ทำได้ราว 8% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้อยู่ที่ 5% ขณะเดียวกับจะรักษาการทำกำไรให้เติบโตอย่างยังยืน”
ส่วนแผนลงทุน 5 ปี ของ ปตท.(ปี 2568-2572) ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ของปตท. คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด ปตท.ได้ในช่วงเดือนธ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับวงเงินลงทุน 5 ปี และปี2568 ได้ภายในกลางเดือนธ.ค.นี้ โดยเบื้องต้น งบลงทุนจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจต้นน้ำ(Upstream) อย่างธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตเรลียม ที่ ปตท.สผ. จะต้องเร่งขยายการลงทุนหาแหล่งผลิตปิเลียมเพิ่มเติม และธุรกิจก๊าซฯ ที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯในอนาคต เป็นต้น
ด้านการขับเคลื่อนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผู้รับเหมาช่วงของโครงการฯ นั้น บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งทีมงานเข้าไปให้คำแนะนำ รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายให้รอบครอบ และ ไทยออยล์ ปัจจุบันก็ยังประกอบธุรกิจต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกำไรที่ดี มีสถานะการเงินที่พร้อมจะเดินหน้าการลงทุนต่อ ซึ่งโครงการCFP ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดประโยชน์ในอนาคต ดังนั้น โครงการนี้ จะต้องเดินหน้าก่อสร้างให้เสร็จสิ้น แต่จะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปนั้น ทางไทยออยล์ จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ปตท. ช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 พบว่า ปตท.และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,502 ล้านบาท หรือ 2% โดยหลัก ๆ มาจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซในเดือนมีนาคม 2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
รวมถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของปตท.และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นมี Market GRM ลดลง รวมถึงผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง เนื่องจากธุรกิจโรงแยกก๊าซมีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ขณะที่ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ปตท.และบริษัทในเครือ มีการนำเงินส่งรัฐ รวม 42,669 ล้านบาท