AOT จับมือสนามบิน LEJ ในเยอรมันหนุนไทยเป็นฮับขนส่งสินค้าทางอากาศ

ผู้ชมทั้งหมด 365 

AOT จับมือ Mitteldeutsche Airport Holding ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ บริษัท Mitteldeutsche Airport Holding  เยอรมัน หนุนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement : SAA) ร่วมกับ บริษัท Mitteldeutsche Airport Holding ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าอากาศยาน Leipzig/Halle Airport (LEJ) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานยุทธศาสตร์) พร้อมด้วย นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) ผู้แทน AOT และ Mr. Gotz Ahmelmann ตำแหน่ง Chief Executive Officer Mitteldeutsche Airport Holding ร่วมลงนาม ณ ห้อง The Pavilion โรงแรม Rosewood Bangkok พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ AOT และ Mitteldeutsche Airport Holding ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม

ท่าอากาศยาน Leipzig/Halle Airport (LEJ) เป็นท่าอากาศยานขนส่งสินค้าทางอากาศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและอันดับ 4 ของยุโรป ให้บริการในภูมิภาคเยอรมนีตอนกลาง (Central Germany) ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรปมีจุดหมายปลายทางมากกว่า 250 แห่ง เชื่อมโยงโดยตรงไปยังเครือข่ายถนนและทางรถไฟข้ามทวีปยุโรป รวมถึงมีเส้นทางเชื่อมต่อกับเยอรมนีและยุโรปได้เป็นอย่างดี รองรับผู้โดยสารมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี มีสายการบินให้บริการรวม 90 สายการบิน โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศต่อปีรวมกว่า 1.6 ล้านตัน อีกทั้งยังเป็นท่าอากาศยานที่ได้รับการรับรองในการขนส่งผลิตภัณฑ์ยา (CEIV Pharma Certification) จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และมีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการขนส่งสินค้า E-Commerce รวมถึงเป็นท่าอากาศยานศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศในยุโรปของบริษัท ดีเอชแอล เอ็กซ์เพลส อินเตอร์เนชั่นแนล(DHL) และเป็น Amazon Air Hub แห่งแรกในยุโรป

การลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง AOT กับ Mitteldeutsche Airport Holding จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศของ AOT ในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาการดำเนินงานท่าอากาศยาน ให้เป็นศูนย์กลางการบินด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก (World Class Air Cargo Hub) ทั้งนี้ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว AOT และ Mitteldeutsche Airport Holding จะดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน คือการประชุมร่วมกันเป็นประจำ (Regular Meeting) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร (Exchange of Information) การส่งเสริมการตลาดร่วมกัน (Joint Marketing and Promotion) และการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงาน (Joint Work Activities) การได้จัดทำ SAA ร่วมกันเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรของ AOT ให้กว้างขวางขึ้น นอกเหนือจากดำเนินกิจกรรมตามกรอบความร่วมมือข้างต้น เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการท่าอากาศยานของ AOT แล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตลอดจนสหภาพยุโรปอีกด้วย

อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2552 AOT ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยานกับบริษัท/องค์กรบริหารท่าอากาศยานระหว่างประเทศมาแล้ว จำนวน 13 บริษัท/องค์กรครอบคลุมท่าอากาศยานระหว่างประเทศใน 10 ประเทศโดยการจัดทำ SAA กับ Mitteldeutsche Airport Holding จะเป็นบริษัท/องค์กรลำดับที่ 14