AOT เดินหน้าพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สู่การเป็นฮับการบินภูมิภาค

ผู้ชมทั้งหมด 1,017 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงทำให้มีความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามไปด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งบริหารโดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ถือเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ มีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการสูงเกินขีดความสามารถในการรองรับตั้งแต่ปี 2554 ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในแทบทุกจุดของการให้บริการ ส่งผลให้ในปี 2564 เว็บไซต์ Skytrax ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดลำดับการให้บริการของท่าอากาศยาน โดยคำนึงถึงหมวดการให้บริการสนามบิน เช่น การเดินทาง สภาพแวดล้อมและการออกแบบ เจ้าหน้าที่สนามบิน สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการ เป็นต้น ได้จัดให้ ทสภ.อยู่ในอันดับที่ 66 ซึ่งลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562

โดยหากพิจารณาในรายละเอียดของสาเหตุที่ทำให้อันดับการให้บริการลดลงมาตลอด พบว่า ทสภ.มีปัญหาจากความแออัดในการให้บริการ เช่น ชานชาลารับส่งผู้โดยสารหน้าอาคารไม่เพียงพอ การจราจรหนาแน่น พื้นที่ให้บริการในอาคารผู้โดยสารที่แออัด ระยะเวลาการรอคอยที่จุดตรวจค้น (Security Screening) และจุดตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (Passport Control) ที่ใช้เวลานานกว่าที่ควร เป็นต้น 

ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ปัญหาและการดำเนินการพัฒนา ทสภ.เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีแนวทางให้ AOT ว่าจ้างสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนพัฒนาท่าอากาศยาน ให้ประเมินระดับการให้บริการ (Level of Service: LoS)

รวมถึงทำการศึกษาแผนแม่บทฉบับเดิมและฉบับปรับปรุงปัจจุบัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร ทสภ.โดยผลการศึกษาของ IATA สอดคล้องกับผลประเมินการจัดอันดับท่าอากาศยานของ Skytrax กล่าวคือ มีจุดบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีระดับการให้บริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ส่งผลต่อความพึงพอใจและความสะดวกสบายของผู้มาใช้บริการ ซึ่งสามารถจำแนกพื้นที่ที่เป็นปัญหาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1: สิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ (Under-provided) หรือ เข้าขั้นวิกฤต ซึ่ง IATA ระบุเป็นพื้นที่สีแดงและจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง ได้แก่ ชานชาลารับ-ส่งผู้โดยสาร (Curbside) ทั้งขาเข้าและขาออก ที่ประสบปัญหาความแออัด เนื่องจากมีความยาวจำกัดที่ 620 เมตร แต่มีความต้องการใช้งานมากถึง 812 เมตร หรือเกินขีดความสามารถกว่าร้อยละ 30 จุดตรวจหนังสือเดินทาง (ขาเข้า-ตรวจคนเข้าเมือง) และจุดตรวจค้น (เที่ยวบินภายในประเทศ)

กลุ่มที่ 2: สิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม (Sub-optimum) ซึ่งจะถูกระบุเป็นพื้นที่สีส้มและจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการ ได้แก่ เคาน์เตอร์เช็กอิน จุดตรวจหนังสือเดินทาง (ตรวจคนเข้าเมือง) จุดตรวจค้น (เที่ยวบินระหว่างประเทศ และเปลี่ยนเที่ยวบิน) และจำนวนหลุมจอดที่พร้อมใช้งาน

AOT มีแนวทางแก้ปัญหาจุดบริการ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพ ทสภ. โดยการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อเพิ่มเติมพื้นที่ให้บริการที่สำคัญ เช่น ชานชาลารับส่งผู้โดยสารและอาคารจอดรถ รวมถึงการปรับปรุงระบบจราจร พื้นที่เคาน์เตอร์เช็กอิน จุดตรวจค้น จุดตรวจหนังสือเดินทาง และสายพานรับกระเป๋า เป็นต้น 

อีกทั้งได้คำนึงถึงการให้บริการผู้โดยสารภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ (Transport New Normal) ที่ต้องสอดคล้องกับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การตรวจคัดกรองโรค การแยกพื้นที่ระบบปรับอากาศและระบายอากาศ รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติต่าง ๆ มาให้บริการ เช่น Self Service Check-in, Self Service Bag drop, Passenger Validation, Self-Boarding Gate, Automated Biometric Identification เป็นต้น

นอกจากนั้น AOT จะดำเนินการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารต่อขยายจากอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ทำให้มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ประมาณ 66,000 ตารางเมตร โดยมีแผนเบื้องต้นที่จะใช้พื้นที่นี้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพิ่มการรองรับการเช็กอินล่วงหน้า (Early Check-in) เพื่อให้บริการผู้โดยสารที่มาถึงก่อนเวลาเปิดเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารของสายการบิน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารได้

รวมทั้ง AOT อยู่ระหว่างศึกษาควบคู่กับการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) เพื่อเพิ่มพื้นที่ ทำให้พื้นที่สำหรับผู้โดยสารโล่งขึ้น สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี

ดังนั้น ด้วยบริบทธุรกิจการบินในปัจจุบัน การพัฒนาทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำให้เกิดความสมดุลในการรองรับผู้โดยสารทั้ง Airside และ Landside เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสารถึง 120 ล้านคนต่อปี ทำให้ ทสภ.สามารถกลับมายืนหยัดในฐานะประตูสู่ประเทศไทย และก้าวไปสู่การเป็นท่าอากาศยานชั้นนำของโลกได้อีกครั้ง