AOT เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ขอบริหารสนามบินอีก 9 แห่ง มั่นใจผลงานแข็งแกร่ง ผู้โดยสารโตเกินคาด 25%   

ผู้ชมทั้งหมด 1,093 

AOT เตรียมเสนอรัฐบาลเศรษฐา 3 เรื่อง เร่งพัฒนาสนามบินรองรับผู้โดยสาร บริหารจัดการสล็อต ขอบริหารสนามบินเพิ่มเป็น 9 แห่ง ขณะภาพรวมผลประกอบการผู้โดยสารโตเกินคาด 25% หนุนรายได้โต กำไรฟื้นตัวแรง

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 งานจ้างสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ว่า จากการหารือร่วมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นทาง AOT ได้เตรียมแผนการดำเนินงานให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา 3 เรื่อง 1.การบริหารจัดการในระยะสั้น 6 เดือน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสาร การลดความแออัดรวมถึงการบริหารจัดการตารางการบิน (สล็อต) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ตให้เกิดประสิทธิภาพในการรองรับการบินได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนเรื่องที่ 2 แผนการพัฒนาท่าอากาศยานของ AOT เพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขันและรองรับผู้โดยสาร โดยในระยะยาวก็มีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ AOT เร่งผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรมตามแผนแม่บท ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของ ท่าอากาศยานดอนเมืองให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดประมาณ 50 ล้านคนต่อปี จากเดิม 30 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2565 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนออกแบบก่อสร้าง และคงต้องเสนอ ครม.รัฐบาลใหม่รับทราบในเรื่องการเปลี่ยนกรอบวงเงินลงทุนเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ AOT ยังได้เตรียมลงทุนโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี โครงการท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพิ่มการรองรับเป็น 14 ล้านคนต่อปี และโครงการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพิ่มการรองรับเป็น 18 ล้านคนต่อปี รวมทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังแผนการลงทุนพัฒนาโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) และส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion)

ส่วนในเรื่องที่ 3 นั้น AOT จะยืนยันความพร้อมของการเข้าบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่ ครม.อนุมัติไว้แล้วจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนกรมท่าอากาศยานขอใบรับรองสนามบินสาธารณะ ทางกรมท่าอากาศยานคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2566 และรัฐบาลใหม่เห็นชอบแล้วไปในแนวทางเดียวกันก็คาดว่าจะสามารถโอน 3 สนามบินได้ ในขณะเดียวกันทางกระทรวงคมนาคมตอนนี้ก็มีนโยบายที่จะให้รับโอนท่าอากาศยานอื่นๆ เพิ่มของกรมท่าอากาศยาน แต่ก็ต้องรอเสนอรัฐบาลเพื่อไทยก่อน เพื่อหาแนวทางการบริการจัดการต่อไป

สำหรับ 6 ท่าอากาศยานภูมิภาค ที่ AOT จะพิจารณาเข้าไปรับโอนมาบริหารเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะเป็นท่าอากาศยานที่มีศักยภาพอยู่แล้ว และสามารถสนับสนุนให้ AOT ทำเส้นทางการบินเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานตรัง และท่าอากาศยานระนอง

นายกีรติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้โดยสารใน 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ AOT มีปริมาณรวมกว่า 3 แสนคนต่อวัน ซึ่งเติบโตต่อเนื่อง และปี 2567 คาดว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติช่วงก่อนเกิดโควิด -19 ที่มีปริมาณเฉลี่ย 4.5 แสนคนต่อวัน โดยการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารดังกล่าว ทำให้ AOT ประเมินว่าปริมาณผู้โดยสารในสิ้นปีงบประมาณ 2566 จะสูงเกินกว่าคาดการณ์ไว้ราว 25% เช่นเดียวกับรายได้และกำไรก็จะมีอัตราการเติบโตสอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ไตรมาสในปีงบประมาณ 2566 AOT มีกำไรรวมแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท โดยแนวโน้มในไตรมาส 4 ปีนี้ก็ประเมินว่าจะมีทิศทางเป็นบวก ทำให้ AOT จะมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการใช้หนี้เงินกู้ ที่ดำเนินการกู้มาในช่วงโควิด-19 โดยประเมินว่าในปี 2567 จะเป็นปีที่ AOT มีผลประกอบการที่กลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมีเงินสดสะสมเหลือเพียงพอใช้ในการลงทุนโครงการต่างๆ