BBGI ปักธง! เป้า Net Zero ปี 2050 ผ่านกลไกลงทุนธุรกิจใหม่

ผู้ชมทั้งหมด 326 

บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ปักธง ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน โดยนำแนวคิด ESG เป็นแนวทางพัฒนาองค์กร ตั้งเป้า Net Zero ในปี 2050 เล็งใช้กลไกอื่นเข้ามาสนับสนุน เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียว และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ และผู้สร้างสรรค์ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า BBGI วางเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) พร้อมดำเนินการอย่างจริงจัง  เช่น การจัดทำโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อผลักดันให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร

โดย BBGI ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งขณะนี้การบริหารธุรกิจได้มุ่งหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ
การปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ ในกระบวนการผลิต และใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ 15% ในปี 2569 และ 30% ในปี 2573 ในขณะที่อีก 70% ต้องมีกลไกอื่นที่จะมาช่วยสนับสนุน
เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียว และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ที่ผ่านมา BBGI ได้ร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ 11 องค์กร ก่อตั้งเครือข่าย Carbon Market Club เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองสิทธิเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อมุ่งสู่สังคม Net Zero Emission หรือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และที่สำคัญ BBGI ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ในปี 2050 โดยมีเป้าหมายแรก คือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030

อย่างไรก็ตาม BBGI ได้ดำเนินการในหลายโครงการ เช่น ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน, โครงการติดตั้งบ่อก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน, โครงการเพื่อการจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษ เช่น โครงการแปรรูปขี้เถ้าไม้สับทำอิฐตัวหนอน นำไปใช้ปูพื้นและจัดสวนภายในพื้นที่โรงงานและแจกจ่ายแก่ชุมชนรอบข้างที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่ในชุมชน รวมถึงโครงการสารปรับปรุงดิน ซึ่งจะนำน้ำสารปรับปรุงดินที่เหลือจากกระบวนการผลิต ส่งต่อให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้าอ้อย และหญ้าเนเปียเพื่อเป็นอาหารแก่ปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มความชื้นแก่หน้าดินเพื่อเตรียมพร้อมรับการเพาะปลูก และเป็นการเพิ่มปริมาณสารอาหารอินทรีย์ในดิน ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี