BEM คาดปี 65 รายได้ 1.5 หมื่นล้าน พร้อมเจรจาข้อเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

ผู้ชมทั้งหมด 507 

BEM คาดปี 65 รายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท ปีหน้ากำไรพุ่งมากกว่าก่อนโควิด ยืนยันไม่กังวลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มพร้อมเจรจาข้อเสนอ ประเมินใช้เงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท คาดเปิดให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ปี 68  ระบุไม่สนเรื่องฟ้องร้อง ชี้ไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอและไม่ใช่อาวุธของ BEM 

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แถลงข่าวอัพเดทภาพรวมธุรกิจว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 65 พบว่า ปริมาณผู้ใช้ทางด่วนฟื้นตัวกลับมาเร็วมากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านเที่ยว/วันคิดเป็น  90% ของปริมาณผู้ใช้ทางก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 320,000 เที่ยว/วัน คิดเป็น 85% ของปริมาณผู้โดยสารก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าภายในสิ้นปีจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปีหน้าผู้โดยสารรถไฟฟ้า จะเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 เที่ยว/วัน 

ดร.สมบัติ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการบริษัทฯ  คาดว่าในปีนี้รายได้ทั้งปี จะอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยกำไรครึ่งปีแรก อยู่ที่ 970 ล้านบาท คาดว่าแนวโน้มกำไรทั้งปีจะเกิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปี 64 แน่นอน และในปี 66 รายได้ทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านบาท ส่วนกำไรน่าจะมากกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ทั้งการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินครบทั้งเส้นทาง ประกอบกับการเปิดตัวโครงการใหญ่ๆ ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้ง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โครงการ One Bangkok , Singha Estate ,Samyan Mitrtown  ล้วนส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

นายสมบัติ กล่าวว่า ในส่วนของการเข้าร่วมประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงผลการประเมินคุณสมบัติและเทคนิคว่า บริษัทฯ ผ่านเกณฑ์และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยบริษัทฯยืนยันว่าข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปตามเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนดขึ้น

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอของบริษัทฯ ยังดำเนินการตามข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน เพื่อนำมาให้บริการแก่ประชาชน และมีข้อเสนอทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่าราคาค่าก่อสร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยบริษัทฯ ก็สามารถแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ รฟม.ได้

ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานในโครงการดังกล่าว ก็พร้อมที่จะเริ่มงานได้ทันที โดยมีบมจ.ช.การช่าง เป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอย่างมาก ซึ่งมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้ภายใน 3 ปีครึ่ง หรือภายในปี 68 และส่วนตะวันตกได้ภายใน 6 ปี หรือภายในปี 71 ตามแผนงานของ รฟม.ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของบริษัทฯ ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญา เป็นไปตามแผน หรือก่อนแผนเสมอ

นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินวงเงินการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่าจะใช้เงินทุนราว 1.2 แสนล้านบาท โดยจะจัดหาเงินทุนจากเงินกู้สถาบัน หรือออกหุ้นกู้ ไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเพิ่มทุน ทั้งนี้คาดการณ์ว่า รฟม.จะมีการเรียกเจรจากับบริษัทฯ เพื่อพิจารณาข้อเสนอที่ดีที่สุดในการดำเนินโครงการนี้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการเจรจา หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างทันที เพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามแผน อีกทั้งจะเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถ เพื่อเริ่มให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในปี 68 

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวตามข้อเสนอที่ระบุไว้ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ไม่เคยมีประวัติทิ้งงานหรือส่งมอบงานล่าช้า อีกทั้งไม่เคยให้บริการรถไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน และเราไม่มีความกังวลอะไรเกี่ยวกับโครงการที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รวมทั้งจะไม่มีการฟ้องร้องกับภาครัฐเพราะเราไม่มีเรื่องการฟ้องร้องเป็นอาวุธ อาวุธของเราคือทำให้ดี ดังนั้นการฟ้องร้องไม่ได้อยู่ในวิสัย และไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอของBEM 

สำหรับกรณีที่มีเอกชนบางรายซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการคัดเลือก เปิดเผยว่ามีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ รฟม. มากกว่าที่บริษัทฯ เสนอ ก็ถือเป็นสิทธิของเอกชนรายนั้นจะทำ แต่เนื่องจากการให้ข้อมูลมีการพาดพิงถึงข้อเสนอของบริษัท ซึ่งอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่าข้อเสนอของบริษัทฯ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ บริษัทฯ จำเป็นต้องชี้แจงว่า บริษัทฯได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่รัฐ เข้าร่วมการคัดเลือกภายในเงื่อนไข และกติกาที่รัฐกำหนด การนำข้อเสนอด้านการเงินอื่น ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่บนเงื่อนไข สมมติฐานใด ผ่านเกณฑ์การประเมินของ รฟม.หรือไม่ มาเปรียบเทียบกับข้อเสนอด้านการเงินของบริษัทฯ คงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้  

นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า เงื่อนไขการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องการจ้างเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ในส่วนของงานโยธา  โดยในข้อเสนอของบริษัทฯ ได้ระบุในการจ้างงานโยธา คือ บมจ.ช.การช่าง ดังนั้นหากบริษัทฯจะจ้างผู้รับเหมารายอื่นในการก่อสร้างงานโยธา ก็สามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องแจ้งรายละเอียดการจ้างไปยังรฟม.เพื่อขออนุญาตจ้างงานก่อน เบื้องต้นเชื่อว่าทุกโครงการลงทุนขนาดใหญ่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เพียงรายเดียว แต่ก็ต้องเลือกผู้รับเหมาที่มีความสามารถ และมีประสบการณ์เข้ามาทำงาน