BGRIM ประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาวลุยลงทุน 4 แสนล้าน ขยายพอร์ตกว่า 15 ประเทศ

ผู้ชมทั้งหมด 394 

BGRIM ประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาว “GreenLeap – Global and Green” ลุยลงทุนกว่า 4 แสนล้าน ระหว่างปี 66-73 ขยายพอร์ตกว่า 15 ประเทศ มุ่งสู่เป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ เน้นลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตมากกว่า 50%

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า แผนการลงทุนระหว่างปี 2566-2573 BGRIM นั้นมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) จากปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 มีกำลังการผลิตจาก 3,379 เมกะวัตต์ และในปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4,700 เมกะวัตต์

สำหรับเงินลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 นั้นจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 425,400 ล้านบาท แต่เป็นการกู้ยืม 70-75% ของเงินลงทุน ที่เหลือเป็นเงินลงทุนส่วนของผู้ถือหุ้น โดยเป็นการลงทุนของบริษัทราว 70,000 ล้านบาท มาจากกระแสเงินสด 10,000 ล้านบาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 45,000 ล้านบาท และการระดมทุน หรือ Fund Raising อีก 15,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือ Perpetual bond ในช่วงปลายไตรมาส1/2566

ทั้งนี้แผนการลงทุนจะเน้นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สูงกว่า 50% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 25% ขณะที่โรงไฟฟ้าที่เป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนอยู่ที่ 75% ในขณะที่ปี 2567 เมื่อกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4,700 เมกะวัตต์คาดว่าสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มเป็น 30-35%

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน BGRIM ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอยู่ 20 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศ และต่างประเทศอีก 35 โครงการ และเพื่อดำเนินการลงทุนให้ไปสู่เป้าหมายนั้นมีแผนขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา โดยในประเทศเวียดนามนั้นรอความชัดเจนแผนพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 ของเวียดนาม ในขณะที่การลงทุนในประเทศไทยล่าสุดได้เข้าร่วมยื่นประมูลในโครงการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) รวมกำลังการผลิต 5,203 เมกะวัตต์ โดยได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าประมาณ 500 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังได้มุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งในประเทศเกาหลีใต้มีโอกาสได้กำลังการผลิตกว่า 2,000 เมกะวัตต์ โดยก่อนหน้านั้นทาง BGRIM มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า Wind Power Plants รวมกำลังการผลิต 1,030.6 เมกะวัตต์ ส่วนในตะวันออกกลางก็อยู่ระหว่างการศึกษาขยายการลงทุนในประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  

พร้อมกันนี้อย่างมองหาโอกาสการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในยุโรป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในประเทศ โปแลนด์ อิตาลี กรีซ เน้นลงทุนพลังงานลม เนื่องจากประเทศในยุโรปจะมีศักยภาพมาก และราคารับซื้อไฟฟ้าก็อยู่ในระดับที่สูง เช่น ประเทศกรีซ มีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 60 ยูโรต่อเมกะวัตต์ โดยในประเทศกรีซนั้นคาดว่าจะเห็นเข้าไปลงทุนราว 300 เมกะวัตต์ภายในครึ่งปีแรก 2566 ประอิตาลี 100 เมกะวัตต์ โปแลนด์ 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ซึ่งก็จะเน้นลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน

ส่วนการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในประเทศนั้น BGRIM อยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มาหชน) หรือ PTT ในการร่วมลงทุนด้านนวัตกรรม และร่วมลงทุนในธุรกิจ LNG รวมถึงการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งธุรกิจไฟฟ้านั้นก็อยู่ระหว่างเจรจากับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดย BGRIM มีความสนใจเข้าไปร่วมลงทุนในประเทศอินเดีย  

ยุทธศาสตร์ GreenLeap – Global and Green

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า เพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทฯ นั้นบริษัทจะดำเนินการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ GreenLeap Global and Greenควบคู่ไปกับ 5 จุดแข็งของบริษัท ประกอบด้วย 1.ความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ  2.การเป็นพันธมิตรที่ดีและได้รับความไว้วางใจ 3.ความสามารถในการพัฒนาและบริหารโครงการ 4.การจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการเติบโตด้วยต้นทุนที่ เหมาะสม และ 5.ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ยุทธศาสตร์ GreenLeap – Global and Green นั้นตั้งเป้าหมาย EBITDA ประจำปีที่มากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตรากำไร EBITDA ที่ 35% ภายในปี 2573 โดยยังคงรักษาโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ BGRIM ยังยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ความยั่งยืน และการจัดการห่วงโซ่คุณค่าอย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามการดำเนินแผนงานภายใต้ ยุทธศาสตร์ GreenLeap – Global and Green ประกอบด้วย แผนเชิงกลยุทธ์ 3 ประการ 1.Industrial Solutions มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหาพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าที่หลากหลาย บี.กริม เพาเวอร์ จะใช้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แบตเตอรี่ รวมถึงการเตรียมพร้อมในการรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องมือดิจิทัลขั้นสูง เช่น ระบบที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (distributed energy source) เพื่อรักษาความสมดุลของโครงข่ายไฟฟ้า บี.กริม เพาเวอร์ รวมถึงสนับสนุนลูกค้าด้านการชดเชยคาร์บอนและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ยุทธศาสตร์นี้อาศัยความรู้ของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อบูรณาการพลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บพลังงาน เพื่อที่จะให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรแก่ลูกค้า

2.Independent Power Producer มีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ บี.กริม เพาเวอร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเตรียมพร้อมพอร์ตในประเทศสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  

3.Sustainable Fuels ยุทธศาสตร์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าการจัดหาก๊าซผ่านสัญญาการจัดหาระยะยาวโดยใช้ใบอนุญาตผู้จัดหาและค้าส่งของ บี.กริม แอลเอ็นจี โดยจะเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ รวมถึงเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับภาคส่วนที่ยากต่อการลดทอน เช่น การบินและการเดินเรือ โดยยุทธศาสตร์นี้อาศัยจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และความร่วมมือที่ยาวนานและแข็งแกร่งกับคู่ค้าและผู้ผลิตอุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง