BGRIM ผนึก จุฬาฯ สร้างเครือข่ายอุตฯด้านศิลปะและวัฒนธรรม

ผู้ชมทั้งหมด 215 

“บี.กริม เพาเวอร์” ร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ลงนาม MOU บุกเบิกการวางรากฐานเครือข่ายอุตสาหกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมขับเคลื่อนสังคม 

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมดำเนินโครงการการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (Higher Education for Industry: Hi-FI) ภายใต้โครงการเครือข่ายการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ห้องประชุม 3 ชั้น 2 อาคารศิลปกรรมศาสตร์1 คณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย  

โครงการการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (Higher Education for Industry: Hi-FI) ภายใต้โครงการเครือข่ายการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นการพัฒนารูปแบบความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรม และการพัฒนาระบบการศึกษา ทั้งด้านทัศนคติการทำงาน และระบบที่ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะไปพร้อมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 

คุณฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างบี.กริม และ จุฬาฯ ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนนิสิตคนรุ่นใหม่ให้ได้ฝึก ปฏิบัติงานในองค์กรที่มีงานสะสมที่ล้ำค่า เพื่อสร้างสรรค์และเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป ด้วยคุณภาพที่เป็นสากล อันเป็นการวางรากฐานเครือข่ายอุตสาหกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนศาสตร์ภัณฑารักษ์ในประเทศไทยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อไป

“มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีวิสัยทัศน์และความเป็นเลิศในการสร้างสรรค์งานด้านศิลปกรรม โดยผสมผสานศิลปกรรมสาขาต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์งานนวัตกรรมแบบข้ามศาสตร์ที่ทันสมัย บนพื้นฐานความเป็นไทยก้าวไกลไปสู่นานาชาติ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการใช้ผลงานศิลปกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้เปราะบางในสังคมไทย” 

ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ทางหลักสูตรฯ จะร่วมกับ บี.กริม เพาเวอร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ให้ความช่วยเหลือด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา ผ่านการเข้าไปให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาในองค์กร และทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนิสิต Hi-FI และนิสิต Hi-FI  ให้สามารถตอบสนองความต้องการของบริษัท และความเข้มแข็งด้านวิชาการผ่านการทำงาน การเรียนและการทำวิจัย ทั้งในมิติด้านกระบวนการ พัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ และในมิติแก้ไข พัฒนากระบวนการผลิต ตามที่บริษัทและมหาวิทยาลัย ร่วมกันกำหนดไว้ 

“เป้าหมายสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาและ ส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกในการสร้างนวัตกรรมสังคมและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในภาคอุตสาหกรรมและประเทศชาติให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และการร่วมมือกับอุตสาหกรรมและงานด้านศิลปกรรมครั้งนี้ก็นับเป็นความร่วมมือแรกที่ไม่ใช่ด้านการผลิตของโครงการ HI-FI นี้”