BGRIM ลั่นปี66 ลุยเพิ่มการลงทุนพร้อมแผนเข้าซื้อกิจการในไทยและต่างประเทศ

ผู้ชมทั้งหมด 371 

“บี.กริม เพาเวอร์” ลั่นแผนลงทุนปี66 เดินหน้าขยายการลงทุนพร้อมมองโอกาสเข้าซื้อกิจการทั้งในไทยและต่างประเทศ คาดสิ้นปีนี้มีกำลังผลิตใหม่เพิ่ม 528 เมกะวัตต์ ดันสู่เป้าหมายขยายพอร์ตแตะ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี73 เผยผลประกอบการไตรมาส 1/66 ฟื้นตัวแข็งแกร่ง กำไรสุทธิ ของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 399 ล้านบาท

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน  บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด   (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ จะมุ่งขยายการลงทุนทั้งโครงการใหม่และการเข้าซื้อกิจการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ทวีปยุโรป และภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในส่วนของกำลังการผลิตจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีก 528 เมกะวัตต์ จาก 3,338 ณ สิ้นปี 2565 เป็น 3,866 ณ สิ้นปี 2566 จากโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม (BGPM2) โครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสานอู่ตะเภาเฟสแรก และโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการ (BGPAT2&3)

รวมถึง การเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศมาเลเซีย  2 โครงการ (BGMCSB และ ISSB) พร้อมตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) รายใหม่ เข้าเชื่อมระบบรวม50-60 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยดำเนินการตามแผนควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 50-70 ล้านบาท

ส่วนแผนการลงทุนในระยะยาว บี.กริม เพาเวอร์ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 การขยายพอร์ตสู่กำลังการผลิต  10,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในปี 2573

สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน -ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 379 ล้านบาท จาก 34 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตราคาก๊าซ ขณะที่กำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 399 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของกลุ่มโรงไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรม (SPP) และผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โดยสามารถลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (heat rate) เฉลี่ยถึง 4.6%  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมทั้ง 5 โครงการ และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนประมาณ 200,000 ตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1/2566 บี.กริม เพาเวอร์ ได้เชื่อมเข้าระบบของลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหม่ในประเทศไทย จำนวน 12.2 เมกะวัตต์ จากที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 34.4 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายการเชื่อมลูกค้าใหม่เข้าระบบตลอดทั้งปีที่ 50-60 เมกะวัตต์ โดยความต้องการไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเหล็ก และกลุ่มยางรถยนต์ นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้เข้าลงทุนในประเทศอิตาลีโดยการเข้าซื้อหุ้นใน RES Company Sicilia S.r.l. บริษัทผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในอิตาลี และในเดือนมีนาคม 2566 โครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม เปิดดำเนินการครบทั้ง 5 โครงการ รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ล่าสุด ในเดือนเมษายน 2566 บริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนจำนวน 9 บริษัท ของกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 339.3 เมกะวัตต์ ให้กับรัฐบาลตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นอกจากนี้ reNIKOLA Holdings Sdn. Bhd. (B.Grimm Malaysia ถือหุ้น 45%) เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 90 เมกะวัตต์ (DC) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 21 ปี กับ Tenaga Nasional Berhad (บริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าหลักในประเทศมาเลเซีย)