ผู้ชมทั้งหมด 1,049
BPP หวังสรุปซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซในสหรัฐฯ ต้นปี 64 เผยอยู่ระหว่างการศึกษาหลายโรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละไม่ต่ำกว่า 800 เมกะวัตต์ พร้อมรุกขยายการลงทุนต่างประเทศต่อเนื่องตามฐานการลงทุนของบริษัทแม่อัพกำลังการผลิต 5,300 เมกะวัตต์ในปี 68 ขณะที่ผลประกอบการปี 64 มั่นใจเติบโตก้าวกระโดด
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า การศึกษาลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นรูปแบบ Gas to power อยู่หลายโครงการขนาดกำลังการผลิตโครงการละไม่ต่ำกว่า 800 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุนประมาณต้นปี 64
ทั้งนี้การศึกษาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ นั้นจะเป็นการต่อยอดการลงทุนของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ที่ได้มีการลงทุนในแหล่งการซธรรมชาติบาร์เนตต์ กับ มาร์เซลลัส ซึ่งในประเทศสหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และมีตลาดซื้อขายไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่า 6-7 ตลาดในการรับซื้อไฟฟ้าโดยราคารับซื้อขึ้นอยู่กับการประมูลแข่งขัน ดังนั้นการลงทุนซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ก็ต้องมีพันธมิตรร่วมลงทุน แต่หากไม่มีพันธมิตร BPP ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการลงทุนรายเดียว
นอกจากนี้เพื่อขยายการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 5,300 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ในปี 68 นั้นบริษัทฯ ยังมองหาโอกาสการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายการลงทุนในต่างประเทศตามฐานการลงทุนของบริษัท BANPU รวมถึงขยายการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโต ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และญ่ปุ่น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน BPP ก็อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนหลายโครงการเน้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ขณะเดียวกันก็ได้มีการศึกษาความเป็นได้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติด้วย
ทั้งนี้ในปัจจุบันนั้น BPP มีกำลังการผลิตในมือตามสัดส่วนการถือหุ้น 2,810 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 2,285 เมกะวัตต์ และในเดือน ธ.ค. 63 BPP เตรียม COD โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยามางาตะ ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโครงการยาบูกิ ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์
ส่วนในปี 64 เตรียม COD โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 2 โครงการกำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการชิราคาวะ 10 เมกะวัตต์ และโครงการเคเซนนุมะ 20 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ COD ในไตรมาส 1/64 ขณะเดียวกันในประเทศเวียดนามก็อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในเฟสที่ 2-3 ของโครงการลมหวินเจากำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์คาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง 64
ผลประกอบการในครึ่งหลัง 63 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก 63 เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าหงสา ในประเทศลาว พร้อมกับได้รับปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้าที่ COD เข้ามาใหม่ในปีนี้ 459 เมกะวัตต์ ส่วนในปี 64 มั่นใจว่าผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดด เนื่องจากจะรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์เต็มปี