BPP ลุ้นไตรมาส 2-3นี้ ปิดดีลM&A โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ผู้ชมทั้งหมด 1,209 

“บ้านปู เพาเวอร์” ลุ้นปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไตรมาส 2-3 นี้ หลังซุ่มเจรจาใน 7 ประเทศ ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รอลุ้นช่วงครึ่งปีหลัง หนุนกำลังผลิตใหม่ปีนี้โตกว่า 500 เมกะวัตต์ มั่นใจ โรงไฟฟ้า Temple I ในสหรัฐฯ หนุนรายได้ปีนี้โตอย่างมีนัยยสำคัญ

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPPเปิดเผยว่า บริษัท คาดว่าในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ จะสามารถบรรลุเป้าหมายการควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ หลังจากปัจจุบันได้ดำเนินการเจรจาอยู่หลายโครงการใน 7 ประเทศที่บริษัทมีฐานการลงทุนอยู่แล้ว โดยแต่ละโครงการจะมีขนาดกำลังการผลิตแตกต่างกัน เช่น เวียดนาม ขนาดจะอยู่ที่ 30-50 เมกะวัตต์ ญี่ปุ่น ขนาด 10-20 เมกะวัตต์ ขณะที่สหรัฐฯ ขนาดใหญ่จะค่อนข้างใหญ่กว่าประเทศอื่นและก็มีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดี

“ปัจจุบัน เราทำผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) หลากโครงการทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ พวกก๊าซฯ และพลังงานหมุนเวียน แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซฯเป็นโครงการขนาดใหญ่ รายละเอียดค่อนข้างมากต้องใช้เวลา ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนน่าจะปิดดีลได้ก่อนในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ก็ค่อยทยอยเห็นการลงทุน ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่น่าจะจบดีลได้ช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้

โดยบริษัท ตั้งเป้าหมายว่า ปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปี 2564 ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาประมาณ 500 เมกะวัตต์ เพื่อทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายมีกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ ในอีก 4 ปีข้างหน้าหรือ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 3,242 เมกะวัตต์ ซึ่งยังขาดอยู่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ฉะนั้นในช่วง 4 ปีนี้ บริษัทต้องพยายามเพิ่มกำลังผลิตใหม่ให้ได้เฉลี่ยปีละ 500 เมกะวัตต์

ขณะที่พอร์ตการลงทุนของบริษัท ปัจจุบัน มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ประมาณ 80% และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 12% ซึ่งเมื่อบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ในปี 2568 แล้ว จะส่งผลให้สัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ อยู่ที่ 20% และเมื่อรวมทั้งกลุ่ม บ้านปู จะมีสัดว่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สูงถึง 30%ของพอร์ตการลงทุน ขณะเดียวกันจะไม่มีการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้ตั้งงบลงทุนในปี 2565 วงเงินอยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์ฯ แบ่งเป็นการลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อยู่ที่ 300 ล้านดอลลาร์ฯ และขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อีก 400 ล้านดอลลาร์ โดยวงเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากเงินลงทุนของบริษัท และการกู้เงินจากสถาบันการเงิน รวมึง ล่าสุดที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2565 ยังอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในรูปแบบต่างๆ กัน ได้ครั้งเดียวเต็มจํานวนวงเงิน และหรือเป็นคราวๆ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและความจําเป็นในการใช้ เงินของบริษัทฯ โดยจะออกเป็นสกุลเงินบาท และหรือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และ/หรือสกุลเงินต่างประเทศอื่นได้ตามที่บริษัทฯ จะเห็นสมควรภายในวงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเปิดทางเลือกด้านทางเงินให้กับบริษัทเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับการลงทุนในอนาคตมากขึ้น ส่วนจะออกหุ้นกู้ในปีนี้หรือไม่นั้น ยังต้องพิจารณาจังหวะที่เหมาะสมอีกครั้ง

นายกิรณ กล่าวว่า บริษัท ยังมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะเดินหน้าการขยายธุรกิจในสหรัฐอเมริกาจากระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี (Energy Trading) พร้อมศึกษาการผสานห่วงโซ่อุปทานในการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบาร์เนตต์ (Barnett) ของบ้านปูมาใช้ในโรงไฟฟ้า Temple I เพื่อประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนและเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน และมองโอกาสลงไปลงทุนตลาดซื้อขายไฟฟ้า PJM ด้วย คาดว่า ครึ่งปีหลังน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น

“ต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ก็มีผลกระทบต่อบริษัทบ้าง แต่เป็นในแง่ของต้นทุนค่าขนส่งของผู้รับเหมาก็ดูอยู่ว่าจะช่วยเหลือและลดต้นทุนอย่างไร ขณะที่การลงทุนในสหรัฐฯ ที่เป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ถือว่าโชคดีราคาก๊าซฯอยู่ที่ไม่เกิน 6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ปรับขึ้นน้อยกว่าตลาดโลกที่ทะลุสองหลักไปแล้ว และมองว่าราคาผันผวนระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งระยะยาวจะกลับมาปกติ และมีโอกาสทำกำไรมากกว่าการเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น”  

DCIM\100MEDIA\DJI_0879.JPG

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัท คาดว่า รายได้จะเติบโตอย่างมีนัยยสำคัญ เพราะนอกจากจะรับรู้รายได้หลักจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ทั้ง 3 แห่งในจีน ที่สามารถสร้างรายได้จากปริมาณการขายไอน้ำเพิ่มขึ้น ยังจะรับรู้รายได้เต็มปี จากการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ขนาดกำลังการผลิต 768 เมกะวัตต์ ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่าการลงทุน 430 ล้านดอลลาร์ฯ หรือเทียบเท่าประมาณ 14,298 ล้านบาท ที่เริ่มรับรู้รายได้จากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ตลอดจนจะรับรู้รายได้จากกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่คาดว่าจะทยอยปิดดีลเพิ่มขึ้นในปีนี้ และจะรับรู้รายได้ทันที เนื่องจากบริษัทจะเน้นไปที่การทำดีล M&A เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของรายได้และกำไรในปีนี้มากกว่าปีก่อน