ผู้ชมทั้งหมด 302
เอ็กโก กรุ๊ป ลุ้นผลรัฐ เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หลังผ่านประเมินคุณสมบัติกว่า 300 เมกะวัตต์ ลั่นฝ่าด่านวิกฤตราคาพลังงานโลก ปิดบัญชีปี 2565 รับรู้รายได้รวม 65,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% ขณะที่บอร์ดไฟเขียวนำเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาปันผลครึ่งปีหลัง 3.25 บาท/หุ้น
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผย ทิศทางการดำเนินงานในปี 2566 “เอ็กโก กรุ๊ป” มุ่งต่อยอดความสำเร็จและแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดและโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีความจำเป็นในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน รวมทั้งพลังงานทางเลือกอื่น เช่น ไฮโดรเจน ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดคาร์บอน
นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้ยื่นข้อเสนอในโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT ของภาครัฐ โดยผ่านการพิจารณาเบื้องต้น 16 โครงการ ทั้งประเภทโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินและแบบร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) รวมกำลังผลิตกว่า 300 เมกะวัตต์
อีกทั้ง เอ็กโก กรุ๊ป ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า “เอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย” กำลังผลิต 74 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2567”
สำหรับผลประกอบการปี 2565 มีรายได้รวม 65,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% และมีกำไรจากการดำเนินงาน 11,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้า “พาจู อีเอส” เกาหลีใต้ “ไซยะบุรี” สปป.ลาว “ซานบัวนาเวนทูรา” ฟิลิปปินส์ “ขนอม” จ.นครศรีธรรมราช และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 2,683 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2564 สาเหตุมาจากการรับรู้การด้อยค่าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยและโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ และรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ ได้แก่ การรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนของโรงไฟฟ้า “สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่” และการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการ “หยุนหลิน”
สำหรับโครงการ “หยุนหลิน” เอ็กโก กรุ๊ป และพันธมิตรเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งเป็นการก่อสร้างกังหันลมนอกชายฝั่งขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิด การรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการนี้เกิดจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติและอยู่เหนือการควบคุม โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เนื่องจากไต้หวันมีมาตรการเข้มงวดและมีการประกาศปิดประเทศถึง 2 ครั้งในช่วงปี 2563-2565 ทำให้กระทบต่อการเดินทางและการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เครื่องมือในการก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงพื้นที่ก่อสร้างบริเวณช่องแคบไต้หวัน มีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุม โดยในแต่ละปีมีระยะเวลาทำงานหลักจำกัดเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่งผลให้กำหนดแล้วเสร็จของโครงการจำเป็นต้องขยายออกไปจนถึงปี 2567 อย่างไรก็ตาม เอ็กโก กรุ๊ป ขอยืนยันว่าบริษัทยังมีสภาพคล่องสูงในการลงทุนโครงการอื่น ๆ และมีกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากพอร์ตโฟลิโอที่มีการกระจายการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้บริษัทมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง
“ในปี 2565 อุตสาหกรรมไฟฟ้า และพลังงานต้องเผชิญกับความท้าทายจากราคาพลังงานโลกและภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดประเทศทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ผลประกอบการในปี 2565 ของเอ็กโก กรุ๊ป สะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงานปี 2565 ได้ดี ทำให้ผลประกอบการของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงและภาวะเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ รายได้และกำไรจากการดำเนินงานยังคงขยายตัวได้ดี ในขณะเดียวกันยังสามารถขยายการลงทุนในพลังงานสะอาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง”
โดยไฮไลท์ทางธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป ในปี 2565 ได้แก่ การเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” สปป.ลาว กำลังผลิตรวม 650 เมกะวัตต์ การซื้อหุ้นเพิ่ม 10% เพื่อถือหุ้นทั้งหมดในโรงไฟฟ้า “ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม” และ “เทพพนา วินด์ฟาร์ม” จ.ชัยภูมิ การซื้อหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้า “ไรเซ็ก” สหรัฐอเมริกา กำลังผลิตรวม 609 เมกะวัตต์ และการขายหุ้นทั้งหมดในโรงไฟฟ้า “สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่” อินโดนีเซีย นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งในและต่างประเทศ ลงนาม MOU ศึกษาและพัฒนาแผนงานด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาใช้ในโรงไฟฟ้าของเอ็กโก กรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (AGM) ให้จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 3.25 บาท โดยกำหนดรายชื่อ ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 15 มีนาคม 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 เมษายน 2566 หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม AGM ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 เมษายน 2566 หากรวมการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานในปี 2565 คิดเป็นทั้งหมด 6.50 บาท/หุ้น