GC ทุ่มหมื่นล.ลงทุนปี66 หวังวอลุ่มโต 15%

ผู้ชมทั้งหมด 453 

GC ตั้งเป้าปี66 ปริมาณการผลิตโต 15% จากปีก่อน หลังโรงงานใหม่ทยอยแล้วเสร็จ โรงกลั่นเดินเครื่องการผลิตเต็มกำลัง ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีหนุนมาร์จิ้นปีนี้เพิ่มขึ้น ลั่นปีนี้ได้ข้อสรุปลงทุนโรงงานรีไซเคิลในสหรัฐ

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2566 คาดว่า ปริมาณการผลิตจะเติบโตขึ้นประมาณ 15% จากปีก่อน ทั้งจากการเข้าลงทุนใน allnex ที่จะรับรู้ยอดขายเต็มปี ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ที่สามารถเดินเครื่องเต็มที่จากปีนี้ที่มีการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงโครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่ผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี, โครงการ Olefins 2 Modification (OMP) เพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบ (Feedstock) โดยจะได้โพรพิลีนเพิ่มจำนวน 63,000 ตันต่อปี

อีกทั้ง โครงการพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ที่อยู่ระหว่าง รอการอนุมัติใบอนุญาตรองรับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม จากองค์การอาหารและยา(อย.) คาดว่า จะได้รับการอนุมัติในเร็วนี้

“ปีนี้ คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีน และการท่องเที่ยวในประเทศที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จะหนุนความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในปีนี้ โดยคาดว่ามาร์จิ้นก็น่าจะดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปี 2566-2573 ของบริษัท ยังตั้งเป้าหมายเติบโตเฉลี่ยปีละ 4% แต่อย่างไรก็ตามปีนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานจนนำไปสู่ผลกระทบการขาดทุนสต็อกน้ำมันหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ในปี2566 บริษัท ตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ที่ระดับประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ ราว 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) ของบริษัทที่ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 โดยวงเงินลงทุนดังกล่าว ยังไม่รวมแผนการควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A) ซึ่งเบื้องต้น GC อยู่ระหว่างศึกษาแผนการเข้าลงทุน 2 โครงการในสหรัฐฯ ได้แก่ โรงงานผลิตพลาสติกรีไซเคิล และโครงการท่าเรือขนส่งก๊าซฯในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องการลดภาวะโลกร้อน ที่สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act  (IRA) นับเป็นมาตรการจูงใจด้านภาษีและการอุดหนุนสำหรับโครงการที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการผลิตพลาสติกรีไซเคิลสูงขึ้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก เพราะไม่ใช้โครงการขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในการตัดสินใจลงทุนได้ภายในปีนี้ว่าจะเป็นการลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ หรือ การร่วมลงทุนกับพันธมิตร

ส่วนโครงการท่าเรือขนส่งก๊าซฯ ถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสการเติบโตอีกมาก ตามความต้องการใช้ก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น และเป็นพลังงานสะอาดที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน อีกทั้ง ก๊าซฯในสหรัฐฯมีราคาถูก ซึ่งเป็น โอกาสในการส่งออกก๊าซฯมาจำหน่ายในประเทศไทยในช่วงที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยผลิตได้น้อย ก็คาดว่า จะเห็นความชัดเจนได้ในปีนี้

ขณะที่ ความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ บริษัทยังคงชะลอการตัดสินใจลงทุนไปจนกว่าจะหาพันธมิตรร่วมทุนได้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูงจึงต้องพิจารณาลงทุนอย่างระมัดระวัง

ทั้งนี้ ในปีนี้ GC มุ่งเน้นการฟื้นตัวและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในปี 2566  ด้วยการตั้งเป้าทิศทางเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจใช้กลยุทธ์ 3 Steps Plus : Step Change, Step Out, Step Up  โดยมี allnex เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสร้างการเติบโต  มีความแข็งแกร่งทางการเงิน  รวมถึง มีพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลาย ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก 

โดยในส่วนของ Step Change จะผลักดันโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) ซึ่งจะทำให้โรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 สามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้น โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ GC ในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว คาดว่าเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2566

โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนสายการผลิตที่ 4 (HMC PP Line 4) ของบริษัท HMC Polymers กำลังการผลิต 250,000 ตันต่อปี เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อธันวาคม 2565

โครงการก่อสร้างโรงงานไบโอพลาสติก PLA แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ของบริษัท NatureWorks ที่จังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567

โครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง  ของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่ GC ร่วมทุนกับ บริษัท Kuraray และ บริษัท Sumitomo ของประเทศญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2566 เพื่อผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลก

ส่วนของ Step Out จะเดินหน้ากลยุทธ์การแสวงหาโอกาสต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ allnex เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือในต่างประเทศ โดยการปรับองค์กรตั้งหน่วยงานธุรกิจต่างประเทศขึ้น เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัทฯ มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคภายใต้เมกะเทรนด์โลก และเตรียมสร้าง Thailand Innovation Hub ที่จะเป็นศูนย์วิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยให้กับ allnex เพื่อการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย

และในส่วนของ Step Up จะผลักดันแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยมีแผนการดำเนินงาน Roadmap เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนในปี 2573 ภายใต้ 3 กลยุทธ์ ด้วยงบลงทุนราว 5,000 ล้านบาท ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2573 ประกอบด้วย Efficiency-driven: ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหลากหลายโครงการ เช่น โครงการอนุรักษ์พลังงาน โครงการ Maptaphut Integration (MTPi) โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น

Portfolio-driven: เดินหน้าปรับสัดส่วนธุรกิจมุ่งสู่ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยการลงทุนในธุรกิจกลุ่ม High Value Business (HVB) และธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมแสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy (Leverage Synergy) ให้เกิดมูลค่าสูงสุดจากธุรกิจ ตลาด และเทคโนโลยี เช่น allnex ที่ GC ได้เข้าซื้อกิจการ ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง และสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคภายใต้ Megatrends

Compensation-driven: ดำเนินโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างสมดุลของระบบนิเวศของป่าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมรวมถึงชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 บนพื้นที่รวมกว่า 2,500 ไร่ อาทิ โครงการปลูกป่านิเวศระยองวนารมย์ จำนวน 80 ไร่ ตามหลักการ Eco Forest และสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ