GGC ผนึก GC นำร่องผลิต “ไบโอเจท” กว่า 4,000 ตันต่อปี หวังทดสอบตลาดให้กลุ่ม ปตท.

ผู้ชมทั้งหมด 607 

GGC ผนึก GC นำร่องผลิต “ไบโอเจท” ปริมาณกว่า 4,000 ตันต่อปี หวังทดสอบตลาด ก่อนจับมือกลุ่ม ปตท.ลุยจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่ จ่อออกบอนด์ SLL วงเงิน 2,000 ล้านบาท เตรียมพร้อมขยายการลงทุนตามแผน ขณะที่โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 คาดเปิดให้บริการกลุ่ม NatureWorks ได้ช่วงไตรมาส 3 ปี67 พร้อมรับรู้รายได้ทันที  

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า บริษัท ยังคงมุ่งเน้นสร้างการเติบโตผ่านการลงทุนต่อยอดในธุรกิจเดิมของบริษัทฯ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel Business) 2. ธุรกิจเคมีชีวภาพ (Biochemical Business) และ 3. ธุรกิจส่วนประกอบอาหารและโภชนเภสัช (Food ingredient & Nutraceutical Business) โดยในส่วนของ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ คาดว่า จะมุ่งไปที่การผลิต “ไบโอเจท” เบื้องต้น บริษัทได้ร่วมมือกับ บริษัทแม่ คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดทำโครงการนำร่องศึกษาผลิตไบโอเจท จากน้ำมันพืชใช้แล้ว โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดหาน้ำมันพืชใช้แล้ว รวมถึงกากปาล์ม(Pome) ปริมาณราว 20,000 ตันต่อปี เพื่อป้อนให้กับ GC ในการนำไปผลิตเป็นไบโอเจท ได้ในปริมาณกว่า 4,000 ตันต่อปี โดยเป็นการปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่แล้วในจ.ระยอง เพื่อทำการผลิต ใช้เงินลงทุนไม่มากไม่เกิน 100 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์และทำการตลาดในปี 2567

“ประเทศไทย โดยกระทรวงพลังงาน มีแผนบังคับใช้ไบโอเจท ราว 1% ตั้งแต่ปี2568 เป็นต้นไป ของความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบิน (Jet) ที่คาดว่าปี2568 จะมีความต้องการใช้(ดีมานด์) Jet อยู่ที่ 17 ล้านลิตรต่อวัน การบังคับใช้ 1% ก็เท่ากับใช้ไบโอเจท อยู่ที่ 170,000 ลิตร จึงเป็นสาเหตุที่เราเริ่มผลิตจากปริมาณน้อยๆก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการลงทุน ส่วนการลงทุนผลิตไบโอเจทที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ หรือ เชิงพาณิชย์จะดำเนินการโดยกลุ่ม ปตท. คาดว่ากำลังการผลิตจะไม่ต่ำกว่าหลักแสนตันต่อปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปของโครงการฯ แต่จะดำเนินการทันตามกติกาของโลกที่บังคับใช้ไบโอเจท ในสัดส่วน 2% ในปี2573”

อย่างไรก็ตาม เรื่องการบังคับใช้ ไอโอเจท ตามแผนของกระทรวงพลังงานนั้น ยังคงต้องรอฟังนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ด้วยว่าจะดำเนินการตามแผนเดิมหรือไม่ ซึ่งตามแผนเดิมหากขยับขึ้นเป็นใช้ไบโอเจท 2% ในปี 2573 คาดว่า ดีมานด์ Jet ในประเทศจะอยู่ที่ 24 ล้านลิตรต่อวัน เท่ากับต้องการใช้ไบโอเจท อยู่ที่ 480,000 ลิตร

ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ หลังจากจัดตั้งโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 เพื่อผลิตเอทานอลนั้น ก็จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการนี้ 80 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้ ได้จำหน่ายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปริมาณ 30 เมกะวัตต์ และจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับบริษัท NatureWorks ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในโครงการ NBC เฟส 2 ปริมาณ 20 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังผลิตที่เหลือจะใช้เองภายในโครงการฯของบริษัท

ส่วนธุรกิจเคมีชีวภาพ (Biochemical Business) จะมุ่นเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคอล เพื่อเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเชื่อมโยงกับผู้ผลิตปาล์มในประเทศ เบื้องต้นมีการเพิ่มกำลังการผลิตสาร Ethoxylated Alcohol ที่เป็นสารทำความสะอาดหรือ “สารลดแรงตึงผิว” ซึ่งสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน เช่น น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์ เป็นต้น

และธุรกิจส่วนประกอบอาหารและโภชนเภสัช (Food ingredient & Nutraceutical Business) ยังคงมองหาโอกาสลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร รวมถึงการเชื่อมโยงกลุ่มเครื่องสำอาง และอาหารเสริม

พอร์ตของธุรกิจเคมีชีวภาพ เราพยายามจะสร้างให้โตขึ้น เพราะพอร์ตนี้จะมีกำไรที่ดี และอนาคตพยายามจะขยายพอร์ต Food ingredient & Nutraceutical ให้ขึ้นมาเทียบเคียง แต่ลักษณะของ Food ingredient & Nutraceutical จะเป็นบริษัทไม่ใหญ่มาก จะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่มีจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องมองเรื่องการเข้าซื้อกิจการ(M&A) เพื่อให้เติบโตได้เร็วขึ้น”

อย่างไรก็ตาม บริษัท มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับขยายการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ซึ่งล่าสุดที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ได้อนุมัติออก Bond วงเงิน 5,000 ล้านบาท และบริษัทยังมีกำไรสะสมอีก 2,000-3,000 ล้านบาท รวมเป็น 8,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้น มีแผนจะจัดทำสัญญาเงินกู้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อนำมารองรับแผนขยายการลงทุนของบริษัท

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ปีนี้ บริษัท ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลจากปริมาณการขายเมทิลเอสเทอร์ (B100) ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนประมาณ 20% ขณะที่ยอดขายแฟตตี้แอลกอฮอล์ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก ราว5-10% ส่วนธุรกิจกลีเซอรีน คาดว่า ปริมาณจะขยับตามความต้องการใช้ B100อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมยอดขายปีนี้จะเติบโตขึ้น แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ลดลงอย่างมาก หรือ ประมาณ 40-60% เมื่อเทียบกับปีก่อน อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ปีนี้ลดลง หรือใกล้เคียงปีก่อน

ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นตามสถานการณ์ราคาขายผลิตภัณฑ์ ที่น่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ ขณะที่ปริมาณการขายทั้ง เมทิลเอสเทอร์ แฟตตี้แอลกอฮอล์ และกลีเซอรีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังรับรู้รายได้จากโครงการ NBC เฟส 1 ที่จะเดินเครื่องเต็มปี

โดยปัจจุบัน บริษัทมีความสามารถผลิต B100 ได้ 5 แสนตันต่อปี แต่ดีมานด์ในตลาดยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก จึงเดินเครื่องราว 65% ดีขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 50% หลังจากภาครัฐประกาศใช้ B7 ทำให้ดีมานด์หายไป 25% แทนที่จะเป็น B10-B20 แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนโครงการ NBC เฟส 1 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว แต่ยังไม่เต็ม capacity เนื่องจากวัตถุดิบยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตเอทานอลราว 50-60% จากความสามารถในการผลิตเต็มกำลัง อยู่ที่ 6 แสนลิตรต่อวัน ดังนั้น ปีนี้บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยเพื่อเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ทั้งนี้ฤดูหีบอ้อยหน้า ที่จะเริ่มในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ บริษัทคาดหวังว่าจะสามารถผลิตเอทานอลให้ได้ตามเป้าที่ 6 แสนลิตรต่อวัน

ส่วนความคืบหน้าโครงการ NBC เฟส 2 ปัจจุบัน เริ่มก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งน้ำ ไฟฟ้า การเตรียมวัตถุดิบ ให้กับทางบริษัท NatureWorks คาดว่า การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ดังนั้น จะเริ่มรับรู้รายได้ภายในปีหน้า