GPSC จ่อยื่นประมูลโครงการGas to Power เวียดนาม

ผู้ชมทั้งหมด 356 

GPSC จ่อผนึก PTT- PTTEP ยื่นประมูลแข่งขันโครงการ Gas to Power ในเวียดนาม กำลังการผลิตกว่า 1,000 เมกะวัตต์ พร้อมลุยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนในไทย สะท้อนรัฐบรรลุเป้าหมาย Net Zero แย้ม เร็วๆนี้อาจมีข่าวดีลงทุนในสหรัฐฯ   

ดร.รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC มีแผนที่จะผนึกกำลังความร่วมมือในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านพลังงาน โดยเบื้องต้นจะร่วมมือกับบริษัทแม่ คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTTและบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เตรียมเข้าร่วมยื่นประมูลแข่งขัน(บิดดิ้ง) โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ หรือ โครงการ Gas to Power ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตราว 1 กิกะวัตต์(GW) หรือ กว่า 1,000 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อป้อนกำลังการผลิตไฟฟ้ารองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

“ขณะนี้ เรายังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมบิดดิ้ง 1 โครงการ และรอความชัดเจนแผนพัฒนาพลังงานกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม (PDP 8) ด้วย ซึ่งหากชนะการประมูล คาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนรวมหลักหลายหมื่นล้านบาท เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นการก่อสร้างใหม่ ต้องมีการสร้างคลังรับ-จ่าย LNG ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าก๊าซ”

นอกจากนี้ ในส่วนของการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม ก็ยังอยู่ในความสนใจ จากก่อนหน้านี้ เคยทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และปัจจุบัน ก็มีผู้มาเสนอขายโครงการหลายราย แต่ยังไม่ตัดสินใจเข้าลงทุน เนื่องจากต้องพิจารณาหลายปัจจัย โดยเฉพาะความชัดเจนจากแผน PDP 8 ของเวียดนาม

ส่วนโอกาสการขยายการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมนั้น บริษัท มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ และคาดว่า ในเร็วๆนี้น่าจะมีข่าวดี แต่ในเบื้องต้นยังไม่ใช่การลงทุนธุรกิจไฟฟ้า ขณะเดียวกันบริษัท ก็มีการศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรเจนหลายพื้นที่ในสหรัฐด้วย แต่จะเป็นรูปแบบกรีนไฮโดรเจน เพื่อหวังนำไปสู่การลดต้นทุนให้กับพลังงานหมุนเวียน

ขณะที่ในประเทศไต้หวัน ก็มีโอกาสเพิ่มกำลังการผลิตไปร่วมกับพันธมิตรเดิมเพื่อขยายการเติบโตร่วมกันหลังพันธมิตรเข้าประมูลชนะในหลายโครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียด รวมถึงยังมีโอกาสเข้าลงทุนกับพันธมิตรใหม่ด้วย   

ดร.รสยา กล่าวอีกว่า ปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ตามโจทย์ทของบริษัท คือ ปตท.ที่ต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ขณะเดียวกัน กลุ่ม ปตท. ก็ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 20 กิกะวัตต์(GW) ภายในปี 2573 แบ่งเป็น พลังงานสิ้นเปลือง (Conventional) อยู่ที่ 8 GW จากปัจจุบัน อยู่ที่ 5 GW และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) อยู่ที่ 12 GW จากปัจจุบัน อยู่ที่ 2 GW ซึ่งการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานสิ้นเปลือง (Conventional) จะมุ่งเน้นไปที่เชื้อเพลิงก๊าซฯ เช่น โครงการ Gas to Power ที่มีแผนจะเข้าลงทุนในเวียดนาม ไต้หวัน และเมียนมา โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 5 GW เพื่อมาทดแทนกำลังการผลิตเดิมที่จะทยอยหมดอายุโรงไฟฟ้าลงประมาณ 2-3 GW

ส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าประพลังงานหมุนเวียน (Renewable) จะเป็นการขยายการลงทุนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดทางด้านนโยบายรับซื้อไฟฟ้าที่ยังไม่เสรี ฉะนั้น หากไทยมีการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี ก็คาดว่าจะก่อให้เกิดการแข่งขันลงทุนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลงได้ ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ยังรอฟังผลการเข้าร่วมประมูลภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ หลังจากยื่นเสนอไป 9 โครงการ เป็นพลังงานลม 2 โครงการ และโซลาร์ 7 โครงการ คาดว่า ภาครัฐจะประกาศผลการยื่นอุทธรณ์และผู้ได้รับสิทธิในเร็วๆนี้

ขณะเดียวกัน บริษัท ก็เล็งโอกาสที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ผสมกับแบตเตอรี่ หากรัฐเปิดให้ยื่นเสนอโครงการในล็อตใหม่ หลังจากสามารถพัฒนาต้นทุนแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้

“พอร์ตของ GPSC เรายังมีลูกค้าอุตสาหกรรม(IU)ในสัดส่วนสูงถึง 50% กระทบต่อผลประกอบการปีก่อน เพราะไม่สามารถส่งผ่านต้นค่าไฟได้ แต่เมื่อรัฐปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ทิศทางผลประกอบการก็ดีขึ้น ฉะนั้น พอร์ตของบริษัทก็ยังรักษาฐานลูกค้าIU ไว้ พร้อมกับเดินหน้าขยายการเติบโตนอกประเทศ ส่วนในประเทศก็พยายามพัฒนาโครงการเพื่อขายไฟให้กับรัฐ และก็ลุ้นให้เกิดตลาดไฟฟ้าเสรี เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนค่าไฟฟ้า”

อย่างไรก็ตาม GPSC ยังมีโอกาสขยายการเติบโตไปพร้อมกับกลุ่ม ปตท. ต่อเนื่อง เช่น การร่วมมือกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในหลายโครงการ โดยเฉพาะการเข้าไปเป็นผู้รับเหมา(EPC) ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ป้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของOR ปัจจุบัน มีการติดตั้งไปแล้วกว่า 100 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกประมาณ 17 โครงการ ขณะเดียวกัน ในอนาคตอาจพัฒนาความสัมพันธ์กับ OR ไปสู่การร่วมลงทุนในบริษัทลูกร่วมกันด้วย