GPSC ลุ้นผลงานไตรมาส 2 ดีรับหลายปัจจัยบวก

ผู้ชมทั้งหมด 641 

GPSC ชี้ ผลประกอบการไตรมาส 2 รับปัจจัยบวกจาก โรงไฟฟ้า Glow Energy เฟส 5 กลับมาเดินเครื่องปกติตหนุนมาร์จินเพิ่ม 150 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ กกพ.เตรียมปรับขึ้นค่า Ft แบบขั้นบันได พร้อมรับรู้รายได้ โรงไฟฟ้า Avaada ที่อินเดีย ทยอยจ่ายไฟเข้าระบบปีนี้ แถมลุ้นปิดดีลโรงไฟฟ้าพลังงานลมไตหวันครึ่งแรกปีนี้ ขณะที่ตั้งเป้าลดรายจ่ายปีนี้ลง 30% คุมเข้มการเงิน ลุยทบทวนแผนการลงทุนต่อเนื่อง

น.ส.ศิโรบล บุญถาวร ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสการเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2022 บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) GPSC โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของบริษัท คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก โรงไฟฟ้า Glow Energy เฟส 5 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า SPP ขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัท มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 328 เมกะวัตต์(MW) และกำลังการผลิตไอน้ำ 160 ตัน/ชั่วโมง ได้กลับมาเดินเครื่องการผลิตตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้มีมาร์จินเพิ่มขึ้น 150 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร(Ft) งวดพ.ค-ส.ค. 65 ราว 24.77 สตางค์ต่อหน่วย และมีแนวโน้มปรับขึ้นแบบขั้นบันไดในงวดที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า โดยการปรับขึ้นค่าFT มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวมกว่า 1 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเพิ่มรายได้ขายไฟฟ้าให้กับบริษัท

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ฟาร์ม ในอินเดีย ที่บริษัทเข้าถือหุ้น ในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) ซึ่งจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)และเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้ อีกทั้งโครงการยังได้รีไฟแนนซ์ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลงและหนุนผลประกอบการดีขึ้นด้วย

ตลอดจนบริษัท คาดว่าจะสามารถปิดดีล โครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน (Offshore Wind) ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

“ทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันการดำเนินงานและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ในส่วนของก๊าซฯ คาดว่าครึ่งปีหลังจะปรับลดลงและจะช่วยภาพรวมมาร์จินของGPSC ได้”

อย่างไรก็ตาม บริษัท ยังเดินหน้าควบคุมต้นทุนทางการเงิน โดยตั้งเป้าหมายจะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน(OPEX) ปีนี้ลง 30% พร้อมกับทบทวนแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 50% ภายในปี 2573

นายพงษ์ศักดิ์ พลายงาม ผู้จัดการส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่าสำหรับความคืบหน้าธุรกิจแบตเตอรี่นั้นGPSC ได้มีความร่วมมือกับ บริษัท บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ตั้งบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) ที่จะเป็นแกนนำลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ (Battery Value Chain) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงาน

โดยปัจจุบัน มีโครงการผลิตแบตเตอรี่ในไทย ขนาด 30 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบจะยังไม่มีผลกับรายได้ และต้องรอการปรับเพิ่มขนาดกำลังการผลิตเป็นระดับกิกกะวัตต์ต่อไป

รวมถึงยังมีโครงการผลิตแบตเตอรี่ในจีน อยู่ระหว่างการก่อสร้างขนาด 1 กิกกะวัตต์-ชั่วโมง จะแล้วเสร็จต้นปี 2566