LCMT ร่วมกับ ZPMC Korea MOU เปลี่ยนเครื่องจักรยกขนตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง เป็นพลังงานไฟฟ้า

ผู้ชมทั้งหมด 378 

มนพร” เป็นประธาน MOU เปลี่ยนเครื่องจักรยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (RTG) จากพลังงานดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้า ระหว่าง LCMT และ ZPMC Korea คาดช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.5 ล้านกิโลซีโอทูต่อปี พร้อมติดตามความคืบหน้าทลฉ.ระยะที่ 3

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (RTG) จากพลังงานดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ระหว่าง บริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด (LCMT) และ บริษัท แซด พี เอ็ม ซี โคเรีย จำกัด (ZPMC Korea) พร้อมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย Mr. Ole Lindholm เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้แทนจากกรมเจ้าท่า (จท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีฯ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

นางมนพร กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ของสหประชาชาติ (UN) ในการประชุมระดับผู้นำ ณ สำนักงานใหญ่ UN เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 โดยประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะผลักดันความร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่และใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งของประเทศได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ภาคเอกชนที่อยู่ในกำกับดูแล ดำเนินธุรกิจด้วยการนำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในท่าเรือ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน การที่บริษัท LCMT ผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งได้รับสัมปทานจาก กทท. ในการประกอบธุรกิจท่าเทียบเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ได้ริเริ่มนำนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักรที่ให้บริการในท่าเรือให้มาใช้พลังงานสะอาดแทนที่พลังงานจากฟอสซิล เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่อากาศ ถือเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินธุรกิจอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวในอนาคตตามนโยบายของกระทรวงฯ และรัฐบาลไทย

สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหลักในการให้บริการท่าเทียบเรือระหว่างประเทศในท่าเทียบเรือเอ 0 ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยบริษัท LCMT ร่วมกับบริษัท ZPMC Korea มีมูลค่าการลงทุนกว่า 145 ล้านบาท เมื่อการปรับปรุงแล้วเสร็จจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.5 ล้านกิโลซีโอทูต่อปี และจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และการดำเนินธุรกิจขนส่งทางน้ำอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลไทย และตามเป้าหมายของ UN ต่อไป

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะ ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของ ทลฉ. ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation) การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) และเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของ บริษัท ฮัทชิสิน เทอร์มินัล โดยได้สั่งการให้ กทท. เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดภายในท่าเรือ ซึ่งเบื้องต้น กทท. ได้จัดทำและใช้งานระบบ TRUCK QUE ที่มีการจองคิวของรถบรรทุกเพื่อจัดคิวรถบรรทุกให้มีความสอดคล้องกับตารางของสายเดินเรือ เพื่อให้รถบรรทุกที่เข้ามารับ – ส่งตู้สินค้า ประหยัดเวลา และลดปัญหาการจราจรติดขัดภายในบริเวณท่าเรือ โดย กทท. จะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการพัฒนาท่าเรือให้เป็น SMART CITY ซึ่งจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น บริการโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น