OR ทุ่ม 1.7 พันลบ.ปี67 บุก “ตลาดกัมพูชาบ้านหลังที่ 2”  

ผู้ชมทั้งหมด 7,211 

“กัมพูชา” เป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยจำนวนประชากร ที่คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 16.95 ล้านคน โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในปี 2565 อยู่ที่ 5.3% และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 6% มีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (Inflow of FDI) ในปี 2565 อยู่ที่ 3.88 ล้านดอลลาร์ฯ และคาดการณ์ปี 2566 จะอยู่ที่ 4.30 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการว่างงาน ปี 2565 อยู่ที่ 0.4% และปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 0.3% และค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ ถือว่าค่อยข้างต่ำ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ อยู่ที่ 3.92 ล้านคน เพิ่ม 201.2% นับเป็นการฟื้นตัวที่ดีหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19

ด้วยศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมืองที่นิ่ง และตลาดการค้าเสรี เปิดกว้างรับการลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปลงทุนต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ จนทำให้กัมพูชาเกิดการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว  

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจด้าน Oil & Retail Flagship ในเครือ ปตท. ที่มีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์) ธุรกิจน้ำมัน อยู่ที่ 43-45% หรือ อันดับที่ 1 ของประเทศไทย เล็งเห็นถึงศักยภาพดังกล่าวของ “กัมพูชา” จึงไม่พลาดที่จะเข้าไปขยายตลาดธุรกิจ Oil & Retail ในกัมพูชา โดยปักหมุดการลงทุนใน “กัมพูชาเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของ OR” เพราะไทยมีข้อได้เปรียบจากการที่มีดินแดนบางส่วนติดกับกัมพูชา และประชากรกัมพูชา มีค่านิยมเสพสื่อใกล้เคียงกับประชากรไทย เช่น ดูทีวีไทย เล่นแอพพลิเคชั่น line , tiktok เป็นต้น

อีกทั้งยังนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ไทย ทำให้การทำตลาดในกัมพูชา ของ OR จะยึดโมเดลเดียวกับการพัฒนาตลาดในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบัน OR กลายเป็นบริษัทค้าน้ำมันต่างชาติ ที่ครองมาร์เก็ตแชร์ขายน้ำมันอันดับ 1 ในกัมพูชา และคาเฟ่ อเมซอน ก็มียอดขายเป็นเบอร์ 1 ในกัมพูชา

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เล่าว่า OR ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในกัมพูชาร่วม 20 ปีแล้ว โดยเมื่อปี ค.ศ 1992 ได้เริ่มเข้าไปดำเนินธุรกิจเชื้อเพลิงสำหรับการบิน และในปี ค.ศ.200 เริ่มมีการจัดตั้งบริษัท ปตท.(กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) เพื่อดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชา จากนั้นในปี ค.ศ.2013 ได้นำคาเฟ่ อเมซอนเข้าไป ตามด้วยร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่, ชานมไข่มุก Pearly Tea ,ร้าน C-store brand ล่าสุดในปีนี้ ได้ขยายธุรกิจเพิ่มเติมทั้งร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry, Onion Mobility, EV Syation PluZ

โดยตามแผนการลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) ของ OR ในส่วนของกลุ่มธุรกิจ Global วางเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 8,007 ล้านบาท หรือ ประมาณ 12% มุ่งเน้นการขยายสถานีบริการ PTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอน รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีศักยภาพ

ปี 2567 OR ตั้งงบลงทุนในกัมพูชา อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 1,600- 1,700 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการเติบโตในบ้านหลังที่2 ทั้งการขยายปั๊มน้ำมัน ร้านคาเฟ่ อเมซอน การพัฒนาคลังน้ำมัน และคลังLPG เจาะตลาดลูกค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น อีกทั้งปัจจุบัน OR ยังซัพพลายน้ำมันเครื่องบิน ให้กับสนามบินในกัมพูชา ในสัดส่วนมากถึง 70-80% ของความต้องการใช้ จึงนับว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตได้อีกมาก”

นายณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.(กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) กล่าวว่า PTTCL ดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด “Betterment for Cambodian Community and Lifestyle” ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโต ใน 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมมุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ กับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

โดยกลุ่มธุรกิจ Mobility PTTCL มีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 7 แห่ง รองรับการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันอากาศยาน และมีแผนลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ อาทิ คลังน้ำมันและก๊าซ LPG โรงงานผสมยางมะตอย รวมทั้งยังมีสถานีบริการ PTT Station รวม 172 แห่งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศกัมพูชา

ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีความโดดเด่นด้วยร้านคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวกัมพูชาเป็นอย่างดีปัจจุบัน มี 231 สาขา มีร้านสะดวกซื้อ 63 สาขา ร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry จำนวน 1สาขา ซึ่งเป็นการนำพันธมิตรของ OR ไปบุกเบิกตลาดกัมพูชา นำร่องติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาสถานีบริการ PTT Station สาขา Chbar Ampov การติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ แล้ว 3 แห่ง เป็นต้น

“การขยายธุรกิจของ OR ในกัมพูชา นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกัมพูชา มีการลงทุนนับตั้งแต่ก่อตั้ง PTTCL มากกว่า 80 ล้านดอลลาร์ เปิดโอกาสให้นักธุรกิจกัมพูชาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับOR และยังช่วยให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 8,000 อัตรา ซึ่งในปีก่อนPTTCL มีรายได้ 460 ล้านดอลลาร์ และปีนี้จะเติบโตมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา PTTCL ถือเป็นผู้จ่ายภาษีให้กับกัมพูชา มูลค่า 4.1 ล้านดอลลาร์ เป็นรายที่ 22 ของประเทศ

นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ OR กล่าวว่า ในปี 2567 งบลงทุนในกัมพูชา ที่ตั้งไว้ราว 50 ล้านดอลลาร์ จะใช้สำหรับขยายสถานีบริการ PTT Station จำนวน 27 แห่ง จากปัจจุบัน 172 แห่ง แบ่งเป็น COCO 12 แห่ง และ DODO 160 แห่ง และคาดว่าสิ้นปีนี้ จะมีเพิ่มเป็น 175 แห่ง โดยมุ่งเน้นขยายให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งปัจจุบันยังขาดอีก 3 จังหวัด ที่ยังไม่ได้ขยายเข้าไป ปัจจุบัน สถานีบริการ PTT Station ในกัมพูชามีมาร์เก็ตแชร์ 15% เป็นอันดับ 2 รองจากอันดับ 1 คือ Tela บริษัทค้าน้ำมันของกัมพูชาที่มีมาร์เก็ตแชร์เกือบ 30%

ส่วนการขยายคาเฟ่ อเมซอน จะเพิ่มอีก 31 สาขา จากปัจจุบัน มีสาขา 231 สาขา แบ่งเป็น COCO 20 สาขา และ DODO 211 สาขา มีมาร์เก็ตแชร์ คิดป็น 23% อันดับ 1 ของกัมพูชา

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนลงทุนคลัง LPG ในกัมพูชา ความจุ 2,200 ตัน ด้วยมูลค่าเงิรลงทุนรวม 12.5 ล้านดอลลาร์ คาดต้นปีหน้าจะเริ่มเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และมีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2568 โดบมีแผนจะจำหน่าย LPG เจาะตลาดภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักก่อน จากนั้นจะขยายไปจำหน่ายให้กับกลุ่มอาคารพาณิชย์ที่มีถังเก็บขนาดใหญ่ และยังมองโอกาสขยายการลงทุนธุรกิจยางมะตอยด้วย

ตอนนี้ พันธมิตรของ OR อย่าง “โอ้กะจู๋” ได้ริเริ่มเข้าไปศึกษาลู่ทางทำธุรกิจในกัมพูชาแล้วโดยมองลงไปถึงต้นน้ำ ตั้งแต่การหาพื้นที่ปลูกผักเพื่อป้อนวัตถุดิบเข้าสู่ร้านค้า ซึ่งถ้า โอ้กะจู๋ จะเข้าไปลงทุนในช่วงแรกจะเป็นร้านแบบ Stand Alone หรือ ร้านนอกปั๊มน้ำมัน ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม และมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ก่อน”

นายรชา กล่าวอีกว่า กลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของ OR ตามแผนลงทุน 5 ปี จะเน้นการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ รวมไปถึงแสวงหาโอกาสร่วมกับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ รวมไปถึงการขยายธุรกิจไปในประเทศใหม่ๆ

โดยนอกจากการลงทุนในกัมพูชาแล้ว OR ยังคงมองโอกาสขยายการลงทุนในประเทศอื่นๆที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง แต่ใน เมียนมา ยังต้องชะลอการลงทุนไปก่อน เนื่องจากปัญหาด้านการเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง ส่วนลาว วางเป้าเป็นแหล่งซัพพลายในอนาคต โดยเฉพาะการซัพพลายกาแฟให้กับประเทศต่างๆ

ขณะที่เวียดนาม ได้จับมือกับเซ็นทรัล กรุ๊ป เข้าสู่ธุรกิจ Food and Beverage แลยังมีโปรเจกที่อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อนำธุรกิจ Lifestyle แต่ในส่วนของการเปิดสถานีบริการน้ำมัน ยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เนื่องจากเวียดนามยังไม่มีนโยบายเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน

ส่วนฟิลิปปินส์ ยังมีแผนเดินหน้าขายน้ำมันเครื่องบิน และขายให้อุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น โอมาน, มาเลเซีย และญี่ปุ่น ยังเป็นการดำเนินธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ในลักษณะธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ก็ยังมองโอกาสขยายการเติบโตในอนาคตต่อไป

OR ตั้งเป้าหมาย จะมี EBITDA ธุรกิจ Global สัดส่วนอยู่ที่ 15% ในปี 2570 จากช่วงครึ่งแรกปี 2566 มี EBITDA ธุรกิจ Global อยู่ที่ 7.6% โดยจะมุ่งเน้นขยายการลงทุนในกัมพูชา และลาวเป็นต้น”

ทั้งนี้ OR ตั้งงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) จำนวน 67,396.3 ล้านบาท แบ่งตามกลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้ กลุ่มธุรกิจ Mobility 36,266.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.8% กลุ่มธุรกิจ Lifestyle 17,944.5 ล้านบาท คิดเป็น 26.6% กลุ่มธุรกิจ Global 8,007.4 ล้านบาท คิดเป็น 11.9% และกลุ่มธุรกิจ Innovation & New Business 5,178 ล้านบาท คิดเป็น 7.7%