“OR” ปันโอกาส “เกษตรกรบนดอย” ขยายพื้นที่ปลูกกาแฟ ยกประสิทธิภาพแปรรูป เพิ่มคุณภาพส่งตรงผู้บริโภคผ่าน “คาเฟ่ อเมซอน”

ผู้ชมทั้งหมด 1,537 

หากถามถึง “เครื่องดื่ม” ยอดฮิตของคนไทยเวลานี้ คำตอบในหัวที่ใครหลายๆคนนึกถึง คงหนีไม่พ้น “Café Amazon” (คาเฟ่ อเมซอน) เพราะไม่ว่าคุณจะขับรถออกจากบ้าน หรือ จะเลือกกดสั่งซื้อเครื่องดื่มผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ “อเมซอน” ก็กลายเป็นตัวเลือกหลักของคนไทยไปแล้ว การันตีด้วยยอดขายกาแฟที่ครองแชมป์ อันดับ 1 เฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 1 ล้านแก้วต่อวัน จากจำนวนสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 4,100 สาขา

ด้วย “รสชาติเข้มข้น กลิ่นหอมกรุ่น ของเมล็ดกาแฟ” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าใครที่ได้ลิ้มรสก็จะรู้ถึงความแตกต่าง ทำให้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คาเฟ่ อเมซอน ครองใจคนไทยได้ไม่ยาก และคาเฟ่ อเมซอน ยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส ตามความต้องการบริโภคกาแฟของคนไทยที่เติบโตราว 10% ต่อปี

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) เจ้าของแบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” ตระหนึกถึงผลลัพธ์ต่อผู้บริโภค ที่ต้องการ ดื่มกาแฟดี มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงตั้งปณิธานในการดำเนินธุรกิจกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการให้ความสำคัญในทุกกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มปริมาณการเพาะปลูกกาแฟ ให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคกาแฟของคนไทย รวมถึงรักษาคุณภาพของกาแฟให้ได้มาตรฐาน สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ

เมื่อเร็วๆนี้ OR จึงได้นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมศึกษาดูงานแปลงสาธิตการปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการกระบวนการรับซื้อ คัดแยกเมล็ดกาแฟและการบำบัดน้ำเสีย ณ พื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง OR ร่วมกับ “มูลนิธิโครงการหลวง” ดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“บ้านขุนยะ” ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเคยเป็นพื้นที่เขาหัวโล้น แต่ปัจจุบัน กลายเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิกา ที่ร่มรื่นบนพื้นที่ 200 ไร่ ป้อนให้กับคาเฟ่ อเมซอน จุดเริ่มต้นของที่นี่ เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน หรือราวปี 2557  ทาง OR โดยคาเฟ่ อเมซอน ได้เข้าไปในพื้นที่ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) จัดทำโครงการฯ ดังกล่าวขึ้น

โดยมูลนิธิโครงการหลวงฯ ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาพันธุ์กาแฟที่ดี มีคุณภาพ ส่วน OR จะเน้นเรื่องการสร้างคน สร้างอาชีพ และจัดหาตลาดรองรับสินค้าให้กับเกษตรกร และเพื่อให้โครงการฯเกิดความยั่งยืน จึงได้พัฒนาพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ “บ้านขุนยะ” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ประกอบด้วย 5 จุดสำคัญ คือ 1.จุดเรียนรู้เพาะกล้ากาแฟ 2.ปลูกกาแฟภายใต้ระบบไม้ร่มเงา 3.ปลูกกาแฟร่วมกับไม้ป่าซึ่งเป็นไม้ดั้งเดิม 4.แปรรูปกาแฟ และ 5.กาแฟต้นแรก ที่เป็นจุดริเริ่มวิจัยพันธุ์จนนำไปสู่การขยายผลปลูกกาแฟจนถึงปัจจุบัน

การปลูกกาแฟ “บ้านขุนยะ” เป็นการปลูกภายใต้ระบบไม้ร่มเงา ที่เป็นลักษณะการปลูกต้นกาแฟควบคู่ไปกับการปลูกไม้ผล เช่น กล้วย อะโวคาโด และแมคคาเดเมีย เพราะการปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตที่ดี ควรจะได้รับแสงประมาณ 60-70% และการปลูกกาแฟกว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ฉะนั้นการปลูกไม้ผลควบคู่ไปจะทำให้ชาวเขา หรือ เกษตรกร มีรายได้ตั้งแต่ปีแรก ฉะนั้น การปลูกกาแฟภายใต้ระบบไม้ร่มเงา จะเป็นการสร้างป่า สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ต่อเนื่อง

นอกจากการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่ดี การปลูกใต้ร่มเงาเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้ว กระบวนการแปรรูป ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ กาแฟมีรสชาติที่ดี ทาง OR จึง ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงฯ ก่อสร้างโรงงานแปรรูปกาแฟ ตลอดจนการบำบัดน้ำเสียจากการแปรรูปกาแฟ ณ พื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ “บ้านขุนยะ” ภายใต้งบประมาณราว 2 ล้านบาท เพื่อหวังทำเป็นต้นแบบให้เกษตรในพื้นที่นำไปขยายผลต่อ

สุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า จากการที่ OR ได้เข้าไปศึกษาห่วงโซ่กาแฟว่า พัฒนาอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ก็พบว่า ทุกช่วงของกาแฟมีความสำคัญหมดตั้งแต่คัดสายพันธุ์ การปลูก และการแปรรูป ซึ่งการแปรรูปจะมีผลต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะจะมีน้ำเสียเกิดขึ้น โดยจะต้องไม่ปล่อยน้ำเสียออกไปสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างโรงงานแปรรูปกาแฟแบบวิธีเปียก (Wet Process) เป็นกระบวนการที่มีความละเอียดอ่อน ทำให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด โดยมีลักษณะเฉพาะตัว ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลีก ได้แก่ 1.เก็บ คือเลือกเก็บผลที่สุกเต็มที่ 2.โม่ เพื่อแยกเปลือกผลสด 3.หมัก เพื่อกำจัดเมือกที่หุ้มเมล็ด 4.ล้าง เพื่อล้างเมือกออกจากเมล็ดกาแฟกะลา และ5.ตาก เพื่อให้เมล็ดกาแฟกะลามีความชื่นภายในเมล็ดได้ตามมาตรฐาน ก่อนส่งเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ เข้าสู่โรงคั่วกาแฟอเมซอนที่วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อไป

“เดิมพื้นที่แปรรูปกาแฟ แห่งนี้จะมีการปล่อยน้ำเสีย สร้างกลิ่นเหม็นรบกวน เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทาง OR เรามองว่า การทำงานในทุกกระบวนการต้องคำนึงถึง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อไม่ให้การแปรรูปกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีบ่อพัก และบำบัดนำเสีย จึงสร้างเป็นต้นแบบให้กับชาวบ้าน และในปีหน้า ก็คาดว่าโมเดลนี้จะเกิดการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆเพิ่มขึ้น”

ปัจจุบัน OR มีเครือข่ายเกษตรกรชาวเขาที่เข้าร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง กว่า 800 รายในพื้นที่ดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงประมาณ 24 แห่ง ใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน ซึ่งช่วยให้มีช่องทางการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่มั่นคง มีตลาดที่แน่นอน โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนรับซื้อผลผลิตเมล็ดกาแฟสาร (Green bean) จากเกษตรกรในพื้นที่ของโครงการหลวง ไปแล้วกว่า  2,480 ตัน (2,480,000 กิโลกรัม) และในอนาคตยังจะเดินหน้าส่งเสริมการปลูกกาแฟ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

โดยคาเฟ่ อเมซอน ได้นำผลสัมฤทธิ์และองค์ความรู้จากการดำเนินงานในพื้นที่ดอยอินทนนท์มาขยายผลต่อในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งถือเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงลำดับที่ 1 ในรัชกาลที่ 10 ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งเสริมการปลูกกาแฟภายใต้ไม้ร่มเงา ควบคู่กับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่กว่า 40 ไร่ และมีแผนการพัฒนาความรู้การแปรรูปกาแฟที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกรในฤดูกาลผลิตปี 65/66 นี้

นอกจานี้ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา คาเฟ่ อเมซอน ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (บริษัทที่ดำเนินงานโครงการธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่ม ปตท.) ดำเนินงานซื้อขายเมล็ดกาแฟกะลา (Parchment Coffee) ภายใต้กระบวนการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ โครงการ Community Coffee Sourcing : CCS) เพื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่แน่นอน มีรายได้จากการซื้อขายในระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟ

ปัจจุบัน มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เข้าร่วมโครงการฯ กว่า 18 กลุ่ม ประมาณ 329 ราย และยังได้ขยายผลองค์ความรู้การดำเนินงานโครงการ CCS (ร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ) ดำเนินงานพัฒนาการปลูก การผลิต และการแปรรูปกาแฟโรบัสตาให้ได้คุณภาพ ให้กับชุมชนชาวเขากว่า 33 ราย ในพื้นที่บ้านโป่งลึกบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อีกด้วย โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนรับซื้อผลผลิตเมล็ดกาแฟสารจากเกษตรกรในพื้นที่โครงการ CCS ไปแล้วกว่า  2,440 ตัน (2,440,000 กิโลกรัม)

ขณะที่ปี 2562 เป็นต้นมา คาเฟ่ อเมซอน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินงานโครงการพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟโรบัสตาภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากเดิมที่เป็น “เกษตรเชิงเดี่ยว” ให้เป็น “เกษตรผสมผสาน” เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มช่องทางรายได้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมงานโครงการฯ ใน อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา  อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส  และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กว่า 60 ราย

อย่างไรก็ตาม คาเฟ่อเมซอน ยังคงต่อยอดนำต้นแบบและองค์ความรู้ของการดำเนินงาน ไปขยายผลให้กับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและผลิตกาแฟอะราบิกาและโรบัสตาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ ฯลฯ

สุชาติ กล่าวอีกว่า วันนี้ คาเฟ่ อเมซอน ยังเปิดกว้างและต้องการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างตลาดที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของกาแฟไทย อีกทั้งยังเป็นเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาเมล็ดกาแฟเข้าสู่โรงคั่วกาแฟคาเฟ่อเมซอน เพราะอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยยังเติบโต จะเห็นได้จากข้อมูลปัจจุบัน ประเทศไทย ปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้า อยู่ที่ 8,000-10,000 ตันต่อปี ขณะที่การบริโภค อยู่ที่ 8,000-10,000 ตันต่อปี โดยการผลิตและการบริโภคมีอัตราใกล้เคียงกัน ฉะนั้นการขยายพื้นที่ในการปลูกก็เป็นโอกาสที่ดี เพราะปลูกแล้วมีตลาดรองรับ

คาเฟ่ อเมซอน ได้เตรียมความพร้อมทางธุรกิจรองรับความต้องการบริโภคกาแฟที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)OR ได้อนุมัติงบประมาณขยายการลงทุนติดตั้งเครื่องจักรเพิ่ม ประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงคั่วกาแฟคาเฟ่อเมซอน เป็น 11,700 ตัน จะแล้วเสร็จในปี 2567 จากปัจจุบัน โรงคั่วฯ มีกำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 5,000 ตัน และขายอยู่ที่ 4,500 ตัน ซึ่งถือว่าตรึงตัวมาก ดังนั้น OR ได้เตรียมความพร้อมของคาเฟ่อเมซอน เพื่อรองรับความต้องการบริโภคกาแฟที่เติบโตราวปีละ 10%

ขณะเดียวกันยังเตรียมความพร้อมก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) หรือ ดีซี แห่งแรกของคาเฟ่อเมซอน บนพื้นที่ราว 24,000 ตารางเมตร ที่ล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ขึ้นในศูนย์ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมีจุดเด่นเทคโนโลยีคลังสินค้าอัจฉริยะ ใช้หุ่นยนต์ทำงานมากกว่า 50 ตัว รับ เก็บ จ่าย และขนย้ายสินค้า มากกว่า 70% และสามารถเก็บสินค้าได้มากถึง 1.5 ล้านกล่อง

ปัจจุบัน ดีซี แห่งนี้ ได้ใช้งานเพียง 50% ในการรองรับกระจายสินค้าสู่คาเฟ่อเมซอนกว่า 4,000 สาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงยังมีความสามารถที่จะรองรับการเติบโตในอนาคตได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 OR มีแผนที่จะขยายสาขา คาเฟ่อเมซอน ในประเทศเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 400 แห่ง จากปัจจุบัน อยู่ที่ 3,927 สาขา