OR เตรียมตั้งปั๊ม “ศูนย์รวม EV Station PluZ” หนุนเป้าหมาย  EV Hub 

ผู้ชมทั้งหมด 662 

“โออาร์” เตรียมจัดตั้งปั๊ม “ศูนย์รวม EV Station PluZ” แยกพื้นที่จากปั๊มน้ำมัน ตอบสนองผู้ใช้รถEV ติดตั้งหัวชาร์จเร็ว ประเภท DC กว่า 10 หัวจ่าย คาดใช้เงินลงทุนราว 50 ล้านบาทต่อแห่ง พร้อมดึงร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก ร่วมให้บริการในพื้นที่ คาด โมเดลเห็นโมเดลแรก ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ก่อนขยายเป็น 10 แห่งทั่วทุกภาคของประเทศ  

นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า OR อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการจัดทำพื้นที่นำร่องก่อสร้าง “ศูนย์รวม EV Station PluZ” ซึ่งจะเป็นจุดชาร์จรถยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ทุกประเภท โดยจะแยกพื้นที่ออกมากจากสถานีบริการน้ำมัน “พีทีที สเตชั่น” หรือ เรียกได้ว่า เป็นปั๊มชาร์จเฉพาะรถEV ซึ่งเบื้องต้น จะเป็นการติดตั้งเครื่องชาร์จเร็ว หรือ  DC Fast Charge (หัวชาร์จไฟฟ้าแบบกระแสตรง) ที่ต้องมีไม่ต่ำกว่า 10 หัวจ่ายต่อจุด คาดว่า จะใช้เงินลงทุนต่อแห่งเกือบ 50 ล้านบาท

โมเดลนำร่อง กำลังดูอยู่ว่าจะเป็นทางเมืองรองที่จะลงไปภาคเหนือ หรือ อีสาน คาดว่า โมเดลแรก จะเกิดขึ้นก่อน 2-3 แห่ง ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ จากนั้น มีเป้าหมายจะขยายให้ครบ 10 แห่ง กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น ภาคเหนือ เล็งพื้นที่จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพรช ภาคอีสาน เล็งพื้นที่ จ.สระบุรี โคราช และภาคใต้ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์รวมชาร์จEV ส่วนหนึ่งจะช่วยส่งเสริมเป้าหมาย EV Hub ของประเทศในอนาคต หลังพบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้รถEV ราว 1 แสนคัน และจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกมาก

ทั้งนี้“ศูนย์รวม EV Station PluZ” อาจตั้งอยู่ติดกับสถานีบริการน้ำมัน “พีทีที สเตชั่น” แต่จะแยกพื้นที่ออกมาจากปั๊มน้ำมันอย่างชัดเจน หรือ อาจเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ใหม่ แต่คอนเซ็ปท์จะคล้ายปั๊มน้ำมัน คือ จะต้องมีร้านสะดวกซื้อ ร้านคาเฟ่ อเมซอน และร้านค้าปลีกอื่นๆ เข้าไปให้บริการในพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เข้าไปใช้งานใน ศูนย์รวม EV Station PluZ  และในอนาคตจะมีการจัดตั้งชื่อเรียกศูนย์รวม EV Station PluZ ที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการต่อไป

นายสุชาติ ยังกล่าวถึง กรณีที่กระทรวงพลังงาน มีแนวนโยบายจะปรับรื้อโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายว่า OR พร้อมให้ความร่วมมือ และขับเคลื่อนธุรกิจตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐ รวมถึงกรณีที่กรมธุรกิจพลังงาน เตรียมเสนอปรับลดหัวจ่ายน้ำมันดีเซล จากปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ ดีเซลบี7,บี10 และบี20 ให้เหลือ 2 ประเภท คือ ดีเซลพื้นฐาน และบี 20 นั้น มองว่า นโยบายดังกล่าว จะช่วยลดความสับสนในการเติมน้ำมันให้กับผู้บริโภค และยังช่วยให้ผู้ค้าน้ำมัน บริหารจัดการหัวจ่ายได้น้ำมันได้อย่างมรประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในส่วนของการลดต้นทุนของสถานีบริการน้ำมันนั้น คงไม่มีผลมากนัก เพราะเมื่อลดหัวจ่ายดีเซลลง ก็จะต้องมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนไปจำหน่ายน้ำมันประเภทอื่นแทน ตามความต้องการบริโภคน้ำมันในแต่ละพื้นที่

ส่วนกรณี กรมธุรกิจพลังงาน ให้ผู้ค้าน้ำมันทบทวนการส่งออกน้ำมันดีเซล ในช่วงที่หน่วยกลั่นที่ 3 ของไทยออยล์ ปิดซ่อมนั้น ทาง OR ได้ชะลอการส่งออกดีเซลในช่วงนี้ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งปกติก็มีการส่งออกแต่ปริมาณไม่มากนัก ขณะเดียวกัน OR ยังดูปริมาณการใช้ และบริหารจัดการแผนสำรองน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน และให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ในประเทศ และ OR สามารบริหารจัดการได้