PTTเร่งลงทุนตามแผน5ปี8.65แสนล้านมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ผู้ชมทั้งหมด 706 

PTT คาดผลงานครึ่งปีหลัง 64 ยังเติบโตต่อเนื่อง เร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผน 5 ปีงบลงทุน 8.65 แสนล้านบาท มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมสั่ง GPSC ลุยพลังงานทดแทนปรับเป้าเป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 73

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลัง 2564 คาดยังเติบโตใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งปีแรก 2564 เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจะส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อปริมาณการขาย และราคาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่มีเหตุการณ์อะไรมากระทบรุนแรง

ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ปตท.มีรายได้จากการขาย 1,011,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการและราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากปีก่อน

พร้อมกันนี้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ กลุ่มปตท.ยังได้เร่งการลงทุนตามแผน 5 ปี (ปี 2564-2568) โดยจะใช้วงเงินลงทุนรวม 8.65 แสนล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน)  และจัดเตรียมงบลงทุนของกลุ่ม ปตท. ในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก 7.84 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตามแผนการลงทุน 5 ปีของกลุ่มปตท. นั้นจะเป็นจะดำเนินการภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ Powering Life with future energy and beyond  ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต ปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับทิศทางอนาคต มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) พร้อมเป็น Regional LNG Hub  เข้าสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต รุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 

ขณะเดียวกันการลงทุนของกลุ่มปตท. ยังได้เตรียมพร้อมรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพตามทิศทางโลก อาทิ  มุ่งสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และมุ่งขยายการค้าปลีกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก รวมถึงขยายการลุงทุนในธุรกิจ Life Science (ยา nutrition และอุปกรณ์ทางการแพทย์)  ดึงความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จับมือพันธมิตรทั้งในไทยและต่างชาติ  เป็นต้น 

นอกจากนี้กลุ่มปตท.ยังได้ปรับเป้าหมายตามวิสัยทัศน์และทิศทางกลยุทธ์ในแต่ละธุรกิจในปี 2564-2573 โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งได้ปรับเพิ่มเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 8,000 เมกะวัตต์เป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง ปตท. กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเดิมที่ 8,000 เมกะวัตต์ รวมถึงการปรับเพิ่มปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเป็น 9 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573

นายอรรถพล กล่าวถึงโครงการ LNG Reloading Cargo ว่า ในขณะนี้ปตท.ได้ดำเนินการส่งออก LNG ไปยังประเทศญี่ปุ่นบ้างแล้ว นอกจากนี้ยังมีการส่งออกทางรถยนต์ไปประเทศกัมพูชาสำเร็จเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นก็ได้ส่งออก LNG ทางเรือไปยังประเทศจีนในรูปแบบ ISO Tank Container นอกจากนี้ปตท. ยังได้กำหนดเป้าหมายนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็น 9 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 เพื่อรองการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub)

ส่วนความคืบหน้าโครงการร่วมลงทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) (แห่งที่2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี นั้นในขณะนี้ ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ กฟผ. ไปแล้วมั่นใจตว่าจะดำเนินการก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้ว 79-80% ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางปี 2565 ซึ่งการลงทุนในโครงการนี้จะทำให้กฟผ.ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อนในการก่อสร้างเทอร์มินอลในพื้นที่ภาคกลาง และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการร่วมกันเสร็จแล้ว ส่วนโครงการนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ยังต้องขออนุมัติจากภาครัฐต่อไป ซึ่งปตท.และกฟผ.จะประสานงานร่วมกันเพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของภาครัฐต่อไป อย่างไรก็ตามโครงการ LNG Receiving Terminal ในพื้นที่ภาคใต้นั้นสามารถรองรับปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาด 3 ล้านตันต่อปี เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพุนพิน

นายอรรถพล กล่าวถึงการลงทุนสร้างโรงงานแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่า ปตท. เตรียมลงนามร่วมทุน (JV) กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ในเร็วๆนี้ เพื่อสร้างโรงงานแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยคาดว่าจะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกผลิตออกมาได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า