PTTEP จ่อเดินหน้าลงทุน “โครงการโมซัมบิก” กลางปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 781 

ปตท.สผ. คาดกลางปีนี้มีความชัดเจน เดินหน้าต่อโครงการโมซับมิก แอเรีย วัน หลังล่าช้าจากแผน 1 ปี ขณะที่“โครงการแคช-เมเปิล” ในออสเตรเลีย อยู่ระหว่างพิจารณา 2 ทางเลือก “ถอดการลงทุน- ร่วมลงทุนกับพันธมิตร” พร้อมขอชะลอลงทุนโครงการ เอ็ม 3 ในเมียนมา เหตุต้องการโฟกัสรักษากำลังผลิตก๊าซฯ “ยาดานา และซอติก้า” เสริมความมั่นคง 2 ประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า บริษัท คาดว่าในช่วงกลางปีนี้ น่าจะมีความชัดเจนในการกลับเข้าพื้นที่ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก หลังโครงการมีความล่าช้าจากแผนไปประมาณ 1 ปีนี้ เนื่องจากเกิดปัญหาความไม่สงบ โดยล่าสุด บริษัท ได้พูดคุยกับผู้ร่วมลงทุนในโครงการฯ คือ โททาล ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมแผนกลับเข้าไปในพื้นที่ประมาณนี้ หลังจากได้สนับสนุนจัดตั้งกองกำลังทหารเพื่อสร้างความมั่นคง ฉะนั้น หากการกองกำลังทหารพร้อม ก็น่าจะกลับเข้าไปเริ่มการก่อสร้างได้ ซึ่งเดิมคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มผลิตก๊าซฯได้ประมาณปี 2568

สำหรับโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 นับเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบกแห่งแรกของโมซัมบิก โดยมีกําลังการผลิตจาก 2 สายการผลิตแรก รวม 13.1 ล้านตันต่อปี ซึ่งทําการผลิตจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ Golfinho-Atum นอกชายฝั่ง Area 1 สาธารณรัฐโมซัมบิก ปัจจุบัน โครงการฯ มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวรองรับประมาณ 11.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมากกว่า 80% ของกําลังการผลิตทั้งหมด โดยมีผู้ซื้อหลักจากทั้งทวีปเอเชียและยุโรป และรายจ่ายลงทุนซึ่งรวมทั้งส่วนบนบกและนอกชายฝั่งจํานวนประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มีแหล่งเงินทุนหลักจากเงินทุนของผู้ร่วมทุน และเงินกู้ Project Finance ดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม บริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.และมีสัดส่วนการลงทุน 8.5% ในโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ร่วมกับกลุ่มผู้ร่วมทุน ได้ลงนามสัญญาเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance วงเงิน 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการฯ สําหรับการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว 2 สายการผลิตแรก หลังจากที่ได้มีการประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2564 ปตท.สผ. ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า จากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่เมือง Palma ประเทศโมซัมบิก ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งโครงการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน (Mozambique LNG) ประมาณ 20 กิโลเมตร

และมีบริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ถือสัดส่วนการลงทุนในโครงการดังกล่าว 8.5% ร่วมกับบริษัท ENH Rovuma Área Um, S.A. (15%), บริษัท Mitsui E&P Mozambique Area1 Limited (20%), บริษัท ONGC Videsh Rovuma Limited (10%), บริษัท Beas Rovuma Energy Mozambique Limited (10%), บริษัท BPRL Ventures Mozambique B.V. (10%) และบริษัท TOTAL E&P Mozambique Area 1 Limitada ซึ่งถือสัดส่วนการลงทุน 26.5% และเป็นผู้ดำเนินการ (Operator)

นายมนตรี กล่าวอีกว่า หลังจากบริษัทมีนโยบายลดบทบาทการลงทุนในประเทศที่ไม่ใช่เป้าหมาย เช่น การขายแหล่งมอนทาราประเทศออสเตรเลีย แต่ยังคงเหลือในแปลงสำรวจ AC/RL7 (แคช-เมเปิล) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโครงการนี้มีปริมาณทรัพยากรที่คาดว่าจะผลิตได้ (contingent resources) 3.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ไกลจากชายฝั่งทะเลถึง 800 กิโลเมตร ยากต่อการพัฒนา หรือ อาจไม่คุ้มค่าในการลงทุน เพราะมีต้นทุนสูง ดังนั้นปัจจุบัน บริษัท อยู่ระหว่างพิจารณา 2 ทางเลือก ระหว่างการถอนการลงทุนในโครงการนี้ หรือ อาจจะพัฒนาร่วมกับพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ก็มีการเจรจากับพันธมิตรและผู้สนใจหลายราย คาดว่า จะมีความชัดเจนภายในปีนี้ 

สำหรับ แปลง AC/RL7 ตั้งอยู่ในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลีย ห่างจากเมืองดาร์วินไปทางทิศตะวันตกประมาณ 700 กิโลเมตร โดย พีทีทีอีพี เอเอเอ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยปตท.สผ.ถือสิทธิในแปลงดังกล่าว 100%

นอกจากนี้ ส่วนของโครงการเมียนมา เอ็ม 3 ที่ตั้งอยู่อ่าวเมาะตะมะ ของเมียนมา ซึ่งปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ และอยู่ระหว่างการสำรวจนั้น คาดว่าจะมีศักยภาพปิโตรเลียมทั้งก๊าซฯและคอนเดนเสท ปัจจุบัน โครงการนี้บริษัทขอชะลอการลงทุนไว้ก่อน เพราะต้องการโฟกัสการลงทุน 2 โครงการในเมียนมา คือ ยาดานา และซอติก้า เพื่อสร้างความมั่นคงในการผลิตก๊าซฯในกับไทยและเมียนมา

ทั้งนี้ ตามแผนเดิม โครงการเอ็ม 3 บริษัทมีแผนจะนำก๊าซฯจากแหล่งดังกล่าวมาใช้ผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับประชาชนในเมียนมาภายใต้โครงการ Gas to Power แต่เนื่องจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเมียนมา จึงตัดสินใจชะลอโครงการไปก่อน