PTTEP ห่วงอีก 5 ปี “แหล่งไพลิน- ยาดานา” สิ้นสุดสัมปทาน กระทบการใช้ก๊าซฯ

ผู้ชมทั้งหมด 364 

ปตท.สผ.ห่วงปี 2571 แหล่งไพลิน ในอ่าวไทยสิ้นสุดสัมปทานซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ หากไตรมาส1 ปี67 ยังไม่มีความชัดเจน หวั่นกำลังผลิตลด ขณะที่แหล่งยาดานา ในเมียนมา เหลืออายุสัมปทานเพียง 5 ปีเช่นกัน ชี้หากหยุดแผนลงทุนกระทบความมั่นคงพลังงานไทย ด้าน กรมเชื้อเพลิงฯ ยันประสานเชฟรอนฯ ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า ปตท.สผ.มีความเป็นห่วงแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2571 หรือเหลือเวลาอีก 5 ปี โดยตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานยังสามารถต่ออายุได้อีก 10 ปี ซึ่งแหล่งฯนี้ ปตท.สผ.ร่วมถือหุ้นในสัดส่วนราว 60% แต่มี เชฟรอนฯ เป็นผู้ดำเนินการ(Operator) โดยขณะนี้ ทางเชฟรอนฯ อยู่ระหว่างเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อขยายอายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปีถึงปี 2581 เนื่องจากเห็นศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียมต่อไปได้อีกในอนาคต แต่ทางกรมฯ ยังคงมีเงื่อนไขเรื่องของการวางหลักประกันการรื้อถอนฯ ซึ่งหาก เชฟรอนฯยอมรับเงื่อนไขได้ ก็สามารถผลิตก๊าซฯได้ต่อเนื่อง แต่หากไม่ยอมรับเงื่อนไข และหยุดการลงทุนก็อาจส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งไพลิน ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตราว 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หายไป หรือเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ

“หากแหล่งไพลิน ไม่มีความชัดเจนในการตัดสินใจลงทุนต่อในช่วงไตรมาส 1ปี67 ก็จะไม่เกิดการก่อสร้างแท่นเพิ่ม จะเริ่มเห็นการผลิตก๊าซฯทยอยลดลง เพราะในอุตสาหกรรมE&P ต้องมีเวลาวางแผนดำเนินการล่วงหน้า 2 ปี เพื่อเจาะหลุม วางแท่น เชื่อมท่อเพิ่ม ซึ่ง ปตท.สผ.ก็แจ้งไปว่า พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้แหล่งไพลิน สามารถรักษาการผลิตก๊าซฯได้ต่อเนื่อง โดยวันนี้ กำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย มีรวมกันอยู่ที่ราว 2,400-2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากไพลิน หายไป 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็เทียบเท่าแหล่งอาทิตย์หายไป 1 แหล่ง”  

นอกจากนี้ ในปี 2571 แหล่งยาดานา ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯสำคัญจากเมียนมา จะสิ้นสุดสัมปทานลง แต่ยังมีศักยภาพที่จะสามารถต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปได้อีก โดยแหล่งนี้มีผู้ลงทุนที่สำคัญคือ เชฟรอน ถือหุ้นราว 41% ฉะนั้นหากไม่มีความชัดเจนในการต่อสัมปทานฯ ก็อาจหยุดการลงทุนลงได้ ปัจจุบันแหล่งนี้ มีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่กว่า 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งเข้าไทย กว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งเข้าเมียนมา กว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนแหล่งซอติก้า จากเมียนมา มีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ร่วม 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งเข้าไทย 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งเข้าเมียนมา 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยก๊าซฯทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 17% ของความต้องการใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าในไทย และคิดเป็น 50% ของความต้องการใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าในเมียนมา

ฉะนั้นในปี 2571 จะมีความเสี่ยงจากแหล่งไพลิน และแหล่งยาดานา ที่จะสิ้นสุดสัมปทานลง ซึ่ง ปตท.สผ.มองว่า ควรเร่งแก้ไขปัญหาในบ้านเราก่อน คือแหล่งไพลิน โดยปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่ความเสี่ยงในการทำธุรกิจของ ปตท.สผ. เพราะสามารถออกไปขยายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้อยู่แล้ว แต่ปัญหานี้จะเป็นความเสี่ยงด้านความต้องการพลังงานของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันราคา LNG อยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์ฯต่อล้านบีทียู

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า กรมฯ ได้หารือกับ เชฟรอนฯ เกี่ยวกับกรณีการต่อสัญญาสัมปทานแหล่งไพลินมาโดยตลอด ซึ่งทางเชฟรอนฯ ยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่รอการอนุมัติจากทางสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯก่อน

ส่วนกรณีความกังวลว่าแหล่งไพลิน อาจซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ ที่ทางกลุ่ม ปตท.สผ. เข้าพื้นที่แหล่งผลิตล่าช้าไปจากแผนเดิมนั้น ปัจจุบันทางกรมฯ ร่วมกับทางเชฟรอนฯ ประเมินแผนดำเนินการ ทั้งแผนที่จะทำต่อ และแผนรื้อถอน แต่ทางเชฟรอนฯ ยังรายงานไม่ครบตามที่กรมฯกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ