ผู้ชมทั้งหมด 694
ไทยออยล์ ทุ่ม 3.5 หมื่นล้านบาท ลุยลงทุน 3 ปี(2566-2568) ปรับพอร์ต มุ่งเพิ่มสัดส่วน EBITDA ธุรกิจมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ แตะ 25% ในปี 2573 ขณะที่ปีนี้ วางงบกว่า 2 หมื่นล้านบาท เร่งก่อสร้างโครงการCFP แล้วเสร็จไตรมาส 1ปี67 ขายน้ำมันยูโร 5 สนองนโยบายรัฐ
จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมที่ เป็นตัวเร่งให้เกิดการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero การเปลี่ยนผ่านของ อุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ กลายเป็นปัจจัยท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของโลก
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ผู้ดำเนินการธุรกิจกลั่นน้ำมันเบอร์ 1 ของไทย จำเป็นต้องเร่งปรับพอร์ตธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว โดยยังคงมุ่งมั่นสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงาน และเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน และก้าวสู่การเป็นองค์กร 100 ปีต่อไป
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จ ากัด (มหาชน) หรือ CEO ไทยออยลคนใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมท ปี 2566 ได้ประกาศสานต่อวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและ เคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน” พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด “TOP for The Great Future” มุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อสร้างอนาคตที่ยิ่งใหญ่
โดยมีแผนปรับเป้าหมายธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ในปี 2573 สัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง จะอยู่ที่ 40% ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี 30% ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและ ธุรกิจใหม่ๆ 25% และธุรกิจไฟฟ้า 5% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่าง ยั่งยืน จากปัจจุบันพอร์ตธุรกิจยังมีกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมสูงถึง 70-80%
ทั้งนี้ ไทยออยล์ ได้วางแผนการขับเคลื่อนการลงทุนระยะสั้น 3 ปี (ปี2566-2568) ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ ประมาณ 35,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ฯ จะใช้สำหรับลงทุนโครงการพลังงานสะอาด หรือ Clean Fuel Project (CFP) และใช้ลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) กับทาง PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนที่เหลือใช้สำหรับการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการในอินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ขณะที่ในปี 2566 คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามแผน จากปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไป 90 % และปีนี้ คาดว่าจะเป็นปีที่มีการใช้แรงงานเข้าสู่พื้นที่มากที่สุด ประมาณ 15,000 คน เพื่อเร่งการก่อสร้าง โดยตั้งเป้าหมายจะให้หน่วยผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 แล้วเสร็จก่อนภายในไตรมาส 1 ปี2567 และเมื่อโครงการเสร็จจะมีกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะเป็นการกลั่นน้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน (JeT) เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ ค่าการกลั่น(GRM) จากปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 4-5 ดอลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการกลั่นน้ำมันที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น
“ตลาดปิโตรเคมีตอนนี้เป็นขาลง มาร์จิ้นไม่ดี การจะลงทุนโรงงานแห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย จะต้องตัดสินใจให้รอบคอบ ซึ่งก็คาดว่า ประมาณกลางปีนี้ หรือ ปลายปีนี้ จะมีความชัดเจนในการตัดส้นใจลงทุนโครงการ CAP 2”
นายบัณฑิต ระบุว่า ภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการในปีนี้ คือ สานต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจกลุ่ม ไทยออยล์ตามเส้นทางยุทธศาสตร์หลัก 3V คือ 1) Value Maximization ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products)
2) Value Enhancement เสริมความแข็งแกร่งในประเทศ ขยายตลาด และกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค รองรับการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในอนาคต รวมทั้ง ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น
และ3) Value Diversification ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆโดยเฉพาะธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High Value Business)และ ธุรกิจ New S-Curve อื่นๆ ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยตั้งเป้าหมายในปีนี้ จะเห็นแพลตฟอร์ตในการพัฒนาธุรกิจ จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรทางธุรกิจหลายราย ซึ่งจะต้องมีการคัดกรองผู้ร่วมลงทุนธุรกิจใหม่ในอนาคต ให้เกิดการสร้างมูลค่าและต่อยอดธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป
“เป้าหมายหลักของผมในปีนี้จะเป็นการเร่งโครงการสำคัญตามแผนกลยุทธ์ เช่น โครงการพลังงานสะอาด หรือ Clean Fuel Project (CFP) ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะ ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย พร้อมทั้งเร่งศึกษาในการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มจำนวน ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และแสวงหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น ธุรกิจสารเคมีที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค รวมถึงสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (Disinfectants & Surfactants)”
สำหรับแนวโน้มธุรกิจน้ำมันในปี 2566 จะเติบโตได้ดี จากความต้องการใช้น้ำมันทุกประเภทปรับสูงขึ้น ตามทิศทางความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่ปรับสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่า น้ำมันสำเร็จรูปในปีนี้ จะเติบโต 4-5% และน้ำมันอากาศยาน เติบโตขึ้น 50% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา
ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบครึ่งแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบจากปัจจัยการเปิดประเทศของจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์การแข่งขั้วทางการเมืองใหม่ระหว่างจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนและความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ราคาน้ำมันครึ่งหลังของปี 2566 ได้เนื่องจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อราคาน้ำมันให้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่ากรณีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ของไทยเร็วๆ นี้ ถือเป็นตัวแปรสำคัญกับธุรกิจน้ำมันเช่นกัน หากการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลใหม่ไม่มีความต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานเป็นอย่างมาก เช่น ในอดีตเคยมีนโยบายให้จำหน่ายน้ำมันกลุ่มเอทานอลและไบโอดีเซลหลายชนิด ทั้งแก๊สโซฮอล์E85 ,E20,E10 รวมถึงน้ำมันไบโอดีเซลทั้ง B7 และ B20 แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็มีการกำหนดนโยบายใหม่ ไม่เน้นน้ำมันโซฮอล์E85 เหลือเพียง แก๊สโซฮอล์ E10 และดีเซลเหลือเพียง B7-B10 เป็นต้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุนของอุตสาหกรรมน้ำมัน
นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งหากนโยบายเปลี่ยนแปลงก็จะมีผลต่อแผนการลงทุนของผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานเช่นกัน ดังนั้น ภาครัฐควรหารือกับผู้ประกอบการเพื่อให้นโยบายรัฐและธุรกิจเอกชนเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับแนวคิด “TOP for The Great Future” หรือ “TOP” ขับเคลื่อนธุรกิจให้บรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหม่ที่ตั้งไว้นั้น โดย “TOP” ประกอบด้วย
T – Transformation ทรานสฟอร์มธุรกิจในทุกมิติ ให้มั่นใจว่า องค์กรพร้อมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหม่ สร้าง ธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพความสามารถของพนักงานให้รองรับการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ พร้อมทั้งยกระดับนวัตกรรม มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
O – Operational to Business Excellence ยกระดับการทำงานปัจจุบันจาก Operational Excellence ไปสู่ Business Excellence สร้างองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยระบบงานระดับ World Class ด้วยเทคโนโลยีล้าสมัยและทีมงาน มืออาชีพ สู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ
P – Partnership & Platform สร้างการเติบโตด้วยแนวทางความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและ ต่างประเทศ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจร่วมกัน รวมถึงใช้ประโยชน์สูงสุดจากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีอยู่ให้เข้าถึง ธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนการขยายธุรกิจในอนาคต