TOP ชะลอตัดสินใจลงทุนโครงการ CAP2 อีก 6-12 เดือน

ผู้ชมทั้งหมด 612 

ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปีนี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ชี้ค่าการกลั่น(GRM) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ตลาดปิโตรเคมี ยังท้าทาย รับโครงการ CFP ล่าช้าจากแผน 2-3 ปี คาดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ปลายไตรมาส1ปี 68 ขณะที่โครงการ CAP2 ชะลอตัดสินใจลงทุน 6-12 เดือน ลุ้นผลประกอบการปีนี้ดีต่อเนื่อง รับปัจจัยบวกจีนเปิดประเทศหนุนดีมานด์

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยในงาน Oppday Year End 2022บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) TOP เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2566 โดยระบุว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในปี2566 คาดว่า ความต้องการใช้น้ำมัน(ดีมานด์)จะฟื้นตัวมากขึ้นตามคาดการณ์อัตราการขายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ที่ดีขึ้น จากการเปิดประเทศของจีน ขณะที่GDPของจีน คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับกว่า5% แต่GDP ของสหรัฐฯก็เติบโตต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังคงนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้

ดังนั้น คาดว่าในส่วนของความต้องการน้ำมันของโลกในปีนี้ จะเติบโตเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศราฐกิจที่ขยายตัวและการเปิดประเทศของจีน โดยดีมานด์จะเพิ่มขึ้นราว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ซัพพลายจากรัสเซีย มีการประเมินกันว่า น้ำมันดิบจากรัสเซียจะลดลงในระดับ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาร์เรล ส่วนกลุ่มโอเปก คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงนโยบายปรับลดกำลังการผลิตเช่นเดียวกันปีที่ผ่านมาที่ลดลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ไทยออยล์ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบ เฉลี่ยปีนี้จะอยู่ในกรอบ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนทิศทางธุรกิจโรงกลั่น ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยค่าการกลั่น(GRM) สิงคโปร์ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 8-9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงปี 2561-2563 จากการฟื้นตัวของเบนซิน และJet หลังจากจีนเปิดประเทศ ขณะที่กำลังการผลิตใหม่ในปีนี้ก็เพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ในระดับใกล้เคียงกับดีมานด์ที่ฟื้นตัว ทำให้คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันสำเร็จรูปจะอยู่ในภาวะสมดุลเช่นเดียวกับตลาดน้ำมันดิบ  

โดยหากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ตลาดน้ำมันแก๊สโซลีน ฟื้นตัวเทียบเท่าก่อนเกิดโควิด-19 และจากการที่จีนยกเลิกนโยบาย (ZERO COVID-19) จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในเอเชียเติบโตอย่างชัดเจน ขณะที่สหรัฐน่าจะค่อนข้างทรงตัว อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนที่คาดว่าจะลดลงในปีนี้

ด้านตลาดน้ำมัน Jet จะเห็นว่าเที่ยวบินมีการฟื้นตัวใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโควิด-19 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งจะดีมานด์จะค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปแตะช่วงก่อนเกิดโควิด-19ได้ภายในปลายปีนี้ ขณะที่สต็อกทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำในช่วง5 ปีเฉลี่ย ก็จะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน Jet

ส่วนตลาดน้ำมันดีเซล ความต้องการใช้แกว่งตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และสต็อกอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยในช่วง 5 ปี โดยยังต้องจับตากรณีการแบนน้ำมันจากรัสเซียของยุโรป อาจส่งผลให้เกิดการลดกำลังการผลิตจากรัสเซียและทำให้ทั่วโลกมีซัพพลายที่ลดลง ขณะที่ตลาดน้ำมันเตา ยังเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการใช้ในภาคไฟฟ้าและการเดินเรือ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาราคาก๊าซธรรมชาติ จากก่อนหน้านี้ราคาปรับขึ้นไปสูง ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซฯมากขึ้น แต่ขณะนี้ราคาก๊าซฯเริ่มลดลง ก็อาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังต้องจับตาในช่วงไตรมาส2-3 ของปีนี้ ที่ทางยุโรปจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ ก็อาจส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้นได้อีก

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางตลาดในประเทศปีนี้ คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องในทุกผลิตภัณฑ์ โดยแก๊สโซลีน คาดว่า จะเติบโต 6.1% ตามทิศทางยอดขายรถที่เพิ่มขึ้น น้ำมันJet จะเติบโต 51.9% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา ขณะที่ดีเซล ยังเติบโต 1.2% ซึ่งอาจย่อตัวลงเล็กน้อยจากราคาก๊าซฯที่ลดลงทำให้ความต้องการใช้ดีเซลเพิ่มผลิตไฟฟ้าน้อยลง ส่วนน้ำมันเตา ยังทรงตัวในระดับ 0.2% ซึ่งจะใช้สำหรับการเดินเรือและส่งออกเป็นหลัก

ส่วนทิศทางตลาดปิโตรเคมี ในส่วนของสารอะโรมาติก ยังอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ตลาดค่อนข้างท้าทาย เพราะมีกำลังผลิตของ PX และเบนซีน เข้ามาในปริมาณมากอยู่ แต่การที่จีนเริ่มกลับมานำเข้าก็จะช่วยลดลงกดดันลงไปได้บ้าง ด้านสานโอเลฟินส์ ก็เช่นเดียวกันมีกำลังการผลิตเข้ามามากกว่าความต้องการใช้ ซึ่งก็จะกดดันมาร์จิ้นในส่วนนี้อยู่ แต่หากเทียบกับปีที่ผ่านมาก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่มากขึ้นหลังจากจีนเปิดประเทศ ส่วนตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน คาดว่าจะย่อตัวลงมาบ้าง

น.ส.ทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)หรือ TOP กล่าวว่า  สำหรับการตัดสินใจลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) ที่จะขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 8.10 ล้านตันต่อปี นั้น ทาง PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ขอชะลอการตัดสินใจในการลงทุนออกไปก่อนประมาณ 6-12 เดือน เพื่อประเมินสถานการณ์ธุรกิจอีกครั้ง โดยจะพิจารณาอย่างรอบครอบ

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ แม้จะไม่มีการรับรู้กำไรพิเศษ แต่เชื่อว่าค่าการกลั่นรวม(GIM) ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจะช่วยหนุนผลประกอบการในปีนี้ให้มีแนวโน้มที่ดี ขณะที่สถานะการเงินของบริษัทยังแข้งแกร่ง มีกระแสเงินสดอยู่ที่ระดับ 43,500 ล้านบาท

นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า ความคืบหน้าการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project: CFP ) ที่จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวันนั้น จะแล้วเสร็จภายในช่วงปลายไตรมาส1 ปี2568 ซึ่งโครงการฯล่าช้าออกไปประมาณ 2-3 ปี จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้โครงการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 10% แต่โดยรวมแล้วผลตอบแทนการลงทุน IRR ยังอยู่ในเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดไว้ ส่วนปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ โดยหลักแล้วจะเน้นการขายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ทั้งน้ำมันเครื่องบิน(Jet) และดีเซล ส่วนที่เหลืออาจส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา รวมถึงเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์