WHAUP จ่อรุกตลาดนิคมฯตะวันออกขายไฟ P2P ปี 65

ผู้ชมทั้งหมด 438 

“ดับบลิวเอชเอยูพี” เตรียมรุกตลาดลูกค้าในนิคม WHA เล็งพื้นที่ปลวกแดง ลุยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 100 เมกะวัตต์ ดันซื้อขายไฟฟ้าผ่านเอนเนอร์ยี่เทรดดิ้งแพลตฟอร์ม ลุ้น กกพ.ไฟเขียวปลดล็อกซื้อขายรูปแบบ P2P ช่วงปลายปีนี้ ก่อนต่อยอดสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซที่ไม่ขายเข้าระบบ เพิ่มเสถียรภาพลูกค้าอุตสาหกรรม

นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทยังเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2564 ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งทั้งเชื้อเพลิงทั่วไป (conventional) หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) รวมอยู่ที่ 670 เมกะวัตต์ ซึ่งการเติบโตหลักมาจากการโครงการ Solar Rooftop ที่ในปีนี้มีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว อาทิ โครงการคอนติเนนทอล ไทร์ส ซึ่งตั้งในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 และโครงการของฮอนด้า จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 2 บริษัทฯ มีโครงการ Solar Rooftop  ที่เปิดดำเนินการแล้วรวมทั้งสิ้น 46 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Solar Rooftop รวมทั้งสิ้น 63 เมกะวัตต์ จากเป้าปี 2564 ที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์

ขณะที่ปี 2566 มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจขายไฟโดยไม่ผ่านระบบการไฟฟ้า หรือ Private PPA ที่เป็นการเข้าไปติดต่อเพื่อดำเนินการติดตั้งโซลาร์ฯ แล้วขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมฯWHA โดยตรง

โดยปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าก๊าซฯ ยังมีสัดส่วนประมาณ 50% ขณะที่โซลาร์ฯ มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 8% ของพอร์ต และแต่ใน 2 ปีข้างหน้า โซลาร์ฯเติบโตตามเป้าหมายก็จะส่งผลให้สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ขณะเดียวกัน บริษัท ยังมีโครง “Smart Energy” หรือ พลังงานอัจฉริยะ ร่วมกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ดำเนินการศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer to Peer Energy Trading ภายใต้โครงการ Energy Regulatory Commission Sandbox (ERC Sandbox) ในบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ซึ่งความคืบหน้าในปัจจุบัน โครงการนี้ได้ทำการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือใช้ไปจำหน่ายให้กับโรงงานข้างๆ แล้วตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผ่านสายส่งของ PEA  แต่ยังรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(บอร์ด กกพ.) อนุมัติเพื่อให้สามารถเกิดการซื้อขายและคิดค่าใช้จ่ายได้จริง ซึ่งขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ และคาดว่า ภายใน 1-2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ก็น่าจะดำเนินการปลดล็อกระเบียบเพื่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้า Peer to Peer  หรือ P2P เชิงพาณิชย์ได้

อย่างไรก็ตาม หากบอร์ด กกพ. อนุมัติให้สามารถดำเนินซื้อขายไฟฟ้า Peer to Peer  หรือ P2P เชิงพาณิชย์ได้แล้ว ในอนาคตบริษัท ก็สนใจที่จะลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาคลังสินค้า (warehouse) หลังคาบ่อน้ำในนิคมฯ ซึ่งมีพื้นที่ที่จะติดตั้งโซลาร์ฯได้อีก เป็น 100 เมกะวัตต์ เพื่อซัพพลายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมฯ ผ่านสายส่ง PEA ซึ่งก็จะมีเรื่องอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (Wheeling Charges) หรือ “วิลลิ่งชาร์จ” โดยปัจจุบัน ทาง กกพ.ได้อนุมัติอัตราในช่อง Sandbox ออกมาแล้ว เหลือแค่การปลดล็อกให้เกิดการซื้อขายได้จริงเท่านั้น ดังนั้นเมื่อระเบียบและกติกาต่างๆมีความชัดเจนแล้ว บริษัทก็คาดหวังที่จะเดินหน้าขยายการลงได้ในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป

“Peer to Peer อีก 100 เมกะวัตต์ จะเป็น TOP UP จาก 300 เมกะวัตต์ ซึ่ง Private PPA จะต้องติดตั้งและขายไฟให้กับลูกค้าในโรงงานนั้นๆ แต่ Peer to Peer สามารถเอาไฟที่เหลือจากโรงงานหนึ่งไปขายให้อีกโรงงานหนึ่งได้ผ่านแพลตฟอร์ม ก็จะเพิ่มรายได้ทางธุรกิจ”

ทั้งนี้ คาดว่า แผนการขยายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอีก 100 เมกะวัตต์ดังกล่าว จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปีหน้า ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนติดตั้งโซลาร์ฯในรูปแบบต่างๆ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคม WHA ในอัตราซื้อไฟฟ้าส่วนลด (discount) ลงมาจากค่าไฟฟ้าของ PEA

สำหรับการลงทุนติดตั้งโซลาร์ฯ 100 เมกะวัตต์ดังกล่าว คาดว่า จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือ ราว 20 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณ 15-20 ปี คาดว่าจะคืนทุนภายใน 6-7 ปี โดยจะเป็นการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Peer to Peer ผ่าน Energy Trading Platform ซึ่งลูกค้าจะแข่งขันประมูลราคาเบื้องต้น อาจจะประมูลเป็นรายเดือน หรือ รายสัปดาห์  โดยใครเสนอราคาดีที่สุดก็จะได้จำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งเทคโนโลยีที่จะมารองรับการซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือกับระบบเป็นที่ยอมรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

โดยแพลตฟอร์มดังกล่าว จะอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง WHAUP กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซอร์ทิส จำกัด (Sertis) ในการพัฒนา “ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล” หรือ “Smart Energy Platform” สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่นิคมWHA  โดยใช้เทคโนโลยี AI และบล็อกเชน (Blockchain) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย เบื้องต้น การซื้อขายจะเป็นสกุลเงินบาท โดย ปตท.และเซอร์ทิส จะเป็นผู้พัฒนา Smart Energy Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าเท่านั้น แต่จะไม่ได้ร่วมลงทุนในการติดตั้งโซลาร์ 100 เมกะวัตต์

“จริงๆทั้งนิคมฯ มีลูกค้าประมาณกว่า 100 ราย แต่ที่จะมาร่วมซื้อขายในแพลตฟอร์มฯ ต้องแล้วแต่สถานการณ์ ณ วันนั้น แต่ที่คาดการณ์เบื้องต้นน่าจะมีอย่างน้อย 30-40 ราย ที่เป็นดีมานด์ ซึ่ง 1 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้พื้นที่ 5,000 ตารางเมตร หรือ 100 เมกะวัตต์ ก็ใช้พื้นที่ 5 แสนตารางเมตร”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีพื้นที่สำหรับรองรับการติดตั้งโซลาร์ฯจำนวนมาก ทั้งหลังคาโรงงานให้เช่า หลังคาโรงงานสำเร็จรูป และพื้นที่ผิวน้ำในนิคมฯเป็นต้น และยังมีพื้นที่ในส่วนของลูกค้าเอง แต่ไม่มีโหลดการใช้ไฟฟ้าก็สามารถนำมาเข้าร่วมโปรแกรมโดยเอาพื้นที่หลังคามาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน WHA มีนิคมในประเทศไทย ทั้งหมด 11 แห่ง และเวียดนาม อีก 1 แห่ง ซึ่งในอนาคต หากต้องการขยายการลงทุนติดตั้งมากกว่า 100 เมกะวัตต์ ก็ยังสามรถดำเนินการได้ โดยการติดตั้ง 100 เมกะวัตต์นั้น เป็นการคำนวณจากพื้นที่นิคมฯ 2-3 แห่งบริเวณปลวกแดง หรือพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโซนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

สำหรับภาพรวมธุรกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจสาธารณูปโภคภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำการเติบโตของรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติทั้งปีให้เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน พร้อมทั้งรักษาอัตรากำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคาดอกเบี้ยและภาษี (EBITDA Margin) ให้อยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50% 

โดยธุรกิจด้านสาธารณูปโภค ปริมาณการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในประเทศยังมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่ที่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการ เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GSRC ของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ขนาด 2,650 เมกะวัตต์ ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในส่วนของหน่วยผลิตที่ 1 ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในส่วนของหน่วยผลิตที่ 2  3 และ 4 ที่เหลือภายในปี 2565 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายน้ำเฉพาะจากโครงการดังกล่าวในปี 2565 ไม่น้อยกว่า 16.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม เช่น โครงการ Wastewater Reclamation และการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water)  โดยใช้เทคโนโลยีเมมเบรนรี เวิร์สออสโมซิส ควบคู่ไปกับการพัฒนา Smart Utilities Service Platform และ Innovative Solution เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและดำเนินการก่อสร้างอีกหลายโครงการ อาทิ โรงบำบัดน้ำแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุสำหรับจำหน่ายแก่ลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และโครงการแหล่งน้ำดิบทางเลือกซึ่งมีกำลังการผลิต 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ขณะที่ ธุรกิจน้ำที่ประเทศเวียดนามก็มีการเติบโตเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 34% ที่มียอดจำหน่ายน้ำเพิ่มขึ้นถึง 26% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อนหน้า  เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในบริเวณจังหวัดฮานอย และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดบั๊กนิญ (Bac Ninh) และจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen)  ในขณะที่ บริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) บริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำประปาที่บริษัทฯ ถือหุ้น 47% ปัจจุบันได้มีการขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกำลังผลิตที่เพิ่มเพื่อรองรับการเติบโตของประชากรที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำประปาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) ต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโต ซึ่งจากแผนการขยายธุรกิจดังกล่าวข้างต้น เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภค เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค

ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมงบลงทุนช่วง 5 ปี 12,000 ล้านบาท รองรับการขยายกิจการปกติและการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม โดยในปี 2564 จะใช้งบลงทุนประมาณ 1,900 ล้านบาท ดังนั้น ยังเหลืองบประมาณอีกกว่า 10,000 ล้านบาทสำหรับรองรับการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม หากเป็นโครงการที่ดีและมีจังหวะที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของบริษัทในอนาคต