กกพ.ถกรัฐปรับกติกาหนุน “ชิปเปอร์เอกชน” นำเข้าLNG ปี65

ผู้ชมทั้งหมด 604 

กกพ.เตรียมหารือกระทรวงพลังงาน ปลดล็อคกติกาsเอื้อนำเข้า LNG เพิ่มเติม หลังพบหลักเกณฑ์เปิดเสรีฯระยะที่ 2 ยังเป็นอุปสรรคต่อ ปตท.และ ชิปเปอร์เอกชน คาดเริ่มดำเนินการปี65    

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อปรับหลักเกณฑ์เพิ่มเติมภายใต้นโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่ นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ภายใต้สัญญาระยะสั้น หรือ รูปแบบตลาดจร(Spot) ซึ่งปีนี้ เบื้องต้นมีการจัดสรรโควตานำเข้ารวมอยู่ที่ 4.8 แสนตัน

สำหรับโควตาดังกล่าว กกพ.ได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำเข้า Spot LNG จำนวน 4 ลำ ปริมาณลำละ 6 หมื่นตัน เข้ามาในช่วง 2 เดือน (ก.ย.-ต.ค.2564) ซึ่งยังเหลือโควตานำเข้าในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.2564 ปริมาณรวม ประมาณ 2.4 แสนตัน โดยโควตาในส่วนนี้ เบื้องต้น ยังไม่มี Shipper เอกชนรายใดสนใจที่จะนำเข้า ดังนั้น กกพ.ต้องหารือกับภาคนโยบายว่าจะพิจารณาให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ในฐานะ Shipper รายแรกของประเทศที่มีบทบาทดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นผู้นำเข้าหรือไม่ อีกทั้งภายใต้กติกานำเข้ายังกำหนดให้ ปตท.จะนำเข้า Spot LNG ได้ ก็ต่อเมื่อราคาต้องต่ำกว่าราคาก๊าซฯเฉลี่ยรวม(Pool Gas)

“ของ ปตท.ก็มีดีมานด์และซัพพลายก๊าซฯอยู่ชัดเจน พอซัพพลายขาด เขาจัดหาก๊าซฯไม่ได้ เพราะราคามันเกิน Pool Gas ทาง กกพ.ก็ต้องใช้อำนาจตาม มาตรา 57 สั่งการใช้จัดซื้อก๊าซฯจาก กฟผ.เข้าไปบางส่วนก่อนในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ แต่ส่วนที่เหลือ พ.ย.-ธ.ค.นี้ อาจสั่งให้ ปตท.นำเข้าก๊าซฯบางส่วน แต่ก็ต้องหารือกับภาครัฐให้ชัดเจนก่อน”

ทั้งนี้ การเปิดเสรีก๊าซฯระยะที่ 2 ในปี 2564 พบว่า หลักเกณฑ์การนำเข้าในบางส่วน ยังไม่เอื้อให้เกิดความคล่องตัว ทาง กกพ.จึงต้องสั่งการพิเศษเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ฯ ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวขึ้น รวมถึงจะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันนำเข้าของ Shipper เอกชน ในปี 2565

DCIM\100MEDIA\DJI_0017.JPG

อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG ของ Shipper ในปีนี้ ยังไม่ใช่ลักษณะของ นโยบายการเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 และโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขัน ตามมติคณะกรรมการนโนบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ที่ต้องการให้ Shipper ที่ได้รับใบอนุญาต​เป็นผู้จัดหา LNG เข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองที่ไม่เกี่ยวกับก๊าซในระบบ Pool Gas หรือ ต้องเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงเรื่องของราคา LNG เอง ซึ่งแนวทางดังกล่าว Shipper แต่ละรายจะต้องไปจัดหา LNG ที่เป็นสัญญาระยะกลาง หรือ ระยะยาวที่จะมีราคาก๊าซเฉลี่ยที่ต่ำกว่า Pool Gas โดยหากกลับมาซื้อก๊าซในระบบ Pool Gas เพื่อเสริมความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของตัวเองในบางช่วงเวลา ก็จะต้องซื้อก๊าซในราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคา Pool Gas ปกติ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ Shipper รายใหม่เอาเปรียบประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ที่จะเลือกนำเข้า LNGเฉพาะช่วงที่มีราคาถูกเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์แต่พอ LNG นำเข้าราคาแพง ก็จะกลับมาซื้อก๊าซจากระบบ Pool Gas

“เบื้องต้น พบว่า มี Shipper เอกชน 1 ราย ที่สนใจจะออกนอกระบบ 100% ในช่วงกลางปีหน้า ขณะที่ กฟผ. ก็อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะออกจากระบบด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องปรับกติกาใหม่ในปีหน้า”

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้(พ.ย.-ธ.ค.2564) ปริมาณนำเข้า Spot LNG อาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ที่ระดับ 4.8 แสนตัน เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยทำได้น้อยกว่าแผนและมีบางโรงไฟฟ้าถ่านหินหยุดเดินเครื่องการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกกพ.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดปริมาณนำเข้า รวมถึง Shipper รายใดจะเป็นผู้นำเข้าในช่วง 2 เดือนที่เหลือนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้

สำหรับพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดสาระสำคัญใน มาตรา 57 ดังนี้ ในกรณีที่อาจเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าเป็นครั้งคราว หรือกรณีจําเป็นที่ต้อง สํารองเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอํานาจออกคําสั่งให้ ผู้รับใบอนุญาตเพิ่มหรือลดการผลิต หรือการจําหน่ายไฟฟ้าได้

ขณะที่ ปัจจุบัน ประเทศไทย มี Shipper ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กกพ. ให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซ LNG ได้ มีทั้งสิ้น 8 ราย แต่บริษัท ปตท. ถือเป็น Shipper รายดั้งเดิม ที่ยังไม่สามารถใช้โควตานำเข้า LNG 4.8 แสนตันได้ ส่วนที่เหลือเป็นรายใหม่ 7 ราย ได้แก่

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
  5. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
  6. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL
  7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG