คมนาคม ยกเว้นค่าทางด่วนช่วงวันหยุดปีใหม่ ลดภาระประชาชน

ผู้ชมทั้งหมด 295 

คมนาคม ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในช่วงวันหยุดพิเศษช่วงเทศกาลปีใหม่ รวม 2 สายทาง พร้อมลดภาระแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกฯ ขยายระยะเวลาการให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษด่านพระราม 9-1 (ฉลองรัช)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงานแถลงข่าว พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายพงษ์สฤษดิ์  ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีความห่วงใยประชาชนผู้ใช้บริการทางพิเศษ ในช่วงที่ภาวะค่าครองชีพสูง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยหาแนวทางในการลดภาระแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ กรณีการปรับอัตราค่าผ่านทางทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้ประชุมหารือกันจนได้ข้อยุติ ซึ่ง BEM พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงคมนาคม โดยจะจำหน่ายคูปองในราคาค่าผ่านทางเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 – 30 พฤศจิกายน 2565 ณ อาคารด่านทั้ง 9 แห่ง และสามารถใช้คูปองได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2565

โดยผู้ใช้บริการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ สามารถซื้อคูปอง และใช้ผ่านทางได้ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยคูปองจะจำหน่ายเป็นเล่ม เล่มละ 20 ใบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 – 30 พฤศจิกายน 2565 เวลา 05.00 – 22.00 น. ณ อาคารด่านทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ 9 ด่าน ได้แก่ ด่านฯ บางซื่อ 1 ด่านฯ กำแพงเพชร 2 ด่านฯ สะพานพระราม 7 ด่านฯ บางกรวย ด่านฯ บางพลัด ด่านฯ บางบำหรุ ด่านฯ บรมราชชนนี ด่านฯ ตลิ่งชัน และด่านฯ ฉิมพลี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่ศูนย์ควบคุมทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ โทร. 0 2555 0255 ดังนี้ 1.คูปองสำหรับรถ 4 ล้อ เล่มละ 1,300 บาท ราคาจำหน่าย 1,000 บาท (ประหยัดได้ 300 บาท) 2.คูปองสำหรับรถ 6-10 ล้อ เล่มละ 2,100 บาท ราคาจำหน่าย 1,600 บาท (ประหยัดได้ 500 บาท) 3.คูปองสำหรับรถมากกว่า 10 ล้อ เล่มละ 3,000 บาท ราคาจำหน่าย 2,300 บาท (ประหยัดได้ 700 บาท)

การปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นทุก ๆ 5 ปี ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 โดยปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ รถประเภท 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาสัมปทานการลงทุนในการออกแบบก่อสร้าง บริหาร และการบำรุงรักษาโครงการทางพิเศษฯ กับ กทพ.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การขยายเวลาการให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษที่ด่านพระราม 9-1 (ฉลองรัช) ซึ่งเป็นด่านในทางพิเศษฉลองรัชที่เชื่อมต่อรับรถที่มาจากทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ทั้งฝั่งอโศกและฝั่งศรีนครินทร์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543 ซึ่ง กทพ. ได้มีแนวทางที่จะให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษฉลองรัชแก่ผู้ใช้ทางพิเศษ จำนวน 10 บาทต่อเที่ยว สำหรับรถทุกประเภท ที่มาจากทางพิเศษศรีรัช ส่วน D เพื่อเข้าสู่ทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษพระราม 9-1 (ฉลองรัช)

โดยมีการให้ส่วนลดค่าผ่านทางตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเป็นต้นมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้    มีการเดินทางโดยใช้โครงข่ายทางพิเศษเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการช่วยลดภาระค่าผ่านทางพิเศษของผู้ใช้ทางพิเศษในการเดินทางข้ามระบบบนทางพิเศษ ทั้งนี้ ในปี 2565 กทพ. ยังคงให้ส่วนลดค่าผ่านทาง จำนวน 10 บาทต่อเที่ยว จากอัตรา 40/60/80 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ รถยนต์ 6-10 ล้อ และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ เป็นอัตรา 30/50/70 บาท ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ทางพิเศษในช่วงเวลานี้

นอกจากนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุด และช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ให้แก่ประชาชนในช่วงวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลปีใหม่ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2564 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มีแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษบูรพาวิถี โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดให้ไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เวลา 00.01น. ถึงวันที่ 4 มกราคม 2564 เวลา 24.00 น.

โดยในส่วนของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีดำริในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ให้ กทพ. พิจารณายกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) (รวมทางเชื่อม) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางสายดังกล่าว เช่นเดียวกับทางพิเศษบูรพาวิถี เนื่องจากเป็นสายทางที่ต่อเนื่องกัน เพื่อระบายการจราจร แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น