กกพ.เตรียมประกาศ “อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว” เม.ย.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 1,947 

กกพ.เดินหน้ากำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) รองรับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์เข้าระบบ เตรียมออกหลักเกณฑ์ฯ ม.ค.นี้ ก่อนประกาศอัตราฯ เม.ย.นี้ หนุนเพิ่มขีดแข่งผู้ส่งออก ป้องถูกตั้งกำแพงภาษีกีดกันการค้า  

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 กกพ.เตรียมกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) ที่เป็นการลงทุนผลิตไฟฟ้าสีเขียวขนาดใหญ่(Utility Scale) เพื่อตอบสนองให้กับบริษัทที่ดำเนินกิจการการค้ากับต่างประเทศและต้องการยกเว้นภาษี จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ตามมาตรการที่ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า และยังช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายลดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์(Net Zero GHG)ในปี 2065

เบื้องต้น อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจาก  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ไปแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า(ไม่เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการนำใบรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ มีข้อจำกัดว่าเป็นไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบอยู่แล้ว จึงอาจไม่ช่วยเรื่องของไฟฟ้าสีเขียวได้มากนัก  

(2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน(เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ และเป็นที่สนใจของหลายบริษัทที่ต้องการซื้อไฟฟ้าสีเขียว โดยไฟฟ้าในส่วนนี้ จะถูกแบ่งกลุ่ม ตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น โซลาร์ล้วน ,โซลาร์ผสมแบตเตอรี่ หรือ ลม เป็นต้น ซึ่งต้นทุนจะมาจากพลังงานนั้นๆ บวกกับใบรับรองฯ และค่าบริการของระบบรวมถึงคืนกำไรให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของประเทศ เพราะเท่าที่ประเมินจากอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่แพง

สำหรับกระบวนการออกประกาศอัตรา Utility Green Tariff: UGT นั้น คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2566 โดยในช่วงเดือนม.ค.นี้ กกพ. จะออกหลักเกณฑ์การกำหนดอัตรา UGT 1 และ UGT 2 จากนั้น ในเดือน ก.พ.2566 จะให้ทาง 3 การไฟฟ้า(กฟผ.,กฟภ.และกฟน.) เสนออัตรา UGT 1 และ UGT 2 พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น และกกพ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการประกาศผลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์ ที่จะได้ผู้ชนะในช่วงเดือนมี.ค.นี้เช่นกัน จากนั้น การไฟฟ้า จะประกาศอัตรา UGT 1 และ UGT 2 ได้ในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อให้ผู้ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากแต่ละโครงการได้ตามความต้องการใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม อีกทั้ง การมีอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) จะช่วยเพิ่มความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้มีไฟฟ้าสีเขียวใช้อย่างมั่นคง โดยที่ภาครัฐจะทำหน้าที่กำกับดูแลในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวให้เพียงพอกับความต้องการใช้ ในราคาที่สะท้อนต้นทุน แข่งขันได้ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งเบื้องต้นจะมีการออกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) เป็นผู้การันตี ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้าง หรือผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อใช้เอง