กทพ.ก้าวสู่ปีที่ 52 เดินหน้าลงทุน 4.4 แสนล้านสร้างทางด่วนทั่วไทย 12 โครงการ

ผู้ชมทั้งหมด 287 

กทพ.ก้าวสู่ปีที่ 52 เดินหน้าลงทุน 4.4 แสนล้านสร้างทางด่วนทั่วไทย 12 โครงการ เร่งเจรจา BEM ลงทุน Double Deck แลกขยายเวลาสัมปทาน ส่วนN2 หากกลางปีหน้าไม่จบพร้อมยกเลิกโครงการและขอคืนพื้นที่ให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ณ หอประชุม 0101 ชั้น 1 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ครบรอบ 51 ปี โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กทพ. ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานอันดับต้น ๆ ที่มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา กทพ. มีผลงานการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการประชาชนไม่ว่าจะเป็นระบบ   เก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass การพัฒนาศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) การพัฒนาระบบ e-Service การจัดตั้งศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ (Expressway Traffic Management Center) และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อเพิ่มความสะดวกในการผ่านทางพิเศษให้กับประชาชน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 51 ปี จนถึงปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษไปแล้ว 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร(กม.)  ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษประจิมรัถยา ซึ่งถือว่าเป็นการรับใช้คน กทม.มาพอแล้ว จากนี้ไปกทพ.จะเดินหน้าพัฒนาทางพิเศษไปยังภูมิภาค ทั้ง ภูเก็ต สมุย นครศรีธรรมราช ตราด เชียงใหม่ และขอนแก่น

โดยในช่วงระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 65 -75 กทพ.ได้จัดทำแผนแม่บทดำเนินโครงการทางพิเศษ อีก 200 กม. เป็นเงินลงทุนกว่า 4.4 แสนล้านบาท รวม 12 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. มูลค่าการลงทุน 3.12 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในต้นปี 2568  2.โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.2 กม. มูลค่าการลงทุน 3.44 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการหาผู้รับจ้าง คาดว่าจะประกาศขายซองคัดเลือกเอกชนได้ในเดือน ธ.ค. 66 และน่าจะได้ผู้ชนะการคัดเลือกกลางปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดเปิดให้บริการปี 70

3.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันออก) ระยะทาง11.3 กม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างที่ กทพ. สรุปรายละเอียด อีกครั้ง หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. เห็นชอบและกทพ.เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการฯ แต่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติม กระทรวงคมาคมจึงส่งเรื่องกลับมาที่ กทพ. คาดว่า กทพ.จะเสนอเรื่องให้บอร์ด กทพ.ชุดใหม่พิจารณา จากนั้นจะส่งเรื่องกลับไปยังกระทรวงคมนาคมก่อนนำเสนอครม.พิจารณาอนุมัติไม่เกินกลางปี 67

4. โครงการระยะที่ 2 ตอน N1 (ศรีรัช-งามวงศ์วาน- ถ.ประเสริฐมนูกิจ) หรือ เกษตร-งามวงศ์วาน ระยะทาง 6.7 กม. มูลค่าการลงทุน 5 หมื่นล้านบาท 5.โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง ภูเก็ต ระยะทาง3.98 กม. มูลค่าการลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาปรับรูปแบบการลงทุนจากเดิมเอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ(PPP) เป็น กทพ. ลงทุนเอง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 67

6. โครงการทางด่วนยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) ระยะทาง 20.09 กม. มูลค่าการลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานบริหารจัดการทางด่วนศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ในแนวเส้นทางที่ต้องทับซ้อน เบื้องต้นผลการศึกษาไม่คุ้มค่า จึงมีแนวโน้มให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน แลกกับการขยายสัมปทาน จากเดิม15 ปี 8 เดือน เป็นเพิ่มเวลาให้เหมาะสมกับเงินที่ต้องลงทุน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถตอบคำถามสังคมได้แน่นแน โดย กทพ.จะเร่งสรุปเรื่องนี้โดยเร็วmujl6f

7.โครงการทางด่วน จ. ภูเก็ต เฟสที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ระยะทาง 30.62 กม. มูลค่าการลงทุน  4.2 หมื่นล้านบาท 8.โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 ด้านทิศใต้ ระยะทาง 71.60 กม. มูลค่าการลงทุน  1 แสนล้านบาท 9.โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 25 กม. วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท 10.โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด ระยะทาง 6 กม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

11.โครงการทางด่วน สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กม. วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท 12.โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กม. วงเงิน 4.4 พันล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือระยะที่ 1  หรือ N 2 นั้น กทพ.ดำเนินการมาแล้วกว่า 25 ปี อยากเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น และศึกษารูปแบบที่เหมาะสมหลายครั้ง หากครั้งนี้ยังไม่สำเร็จ ก็จะขอยกเลิกโครงการ และเสนอคืนพื้นที่ที่เวนคืนมาแล้วคืนให้กับประชาชนต่อไป