กพช.ไฟเขียวปลดล็อคเพดานกู้เงินอุ้มดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ผู้ชมทั้งหมด 839 

นายกฯ สั่งตรึงราคาดีเซล จนสุดกำลัง พร้อมวางแนวทางช่วยผู้ใช้เบนซินเฉพาะกลุ่ม ขณะที่ กพช.ไฟเขียวปลดล็อคเพดานกู้เงินอุ้มดีเซล ไม่เกิน 30 บาท พร้อมปรับสูตร Energy Pool Price ช่วงวิกฤติพลังงาน นำน้ำมันเข้ามาคำนวณร่วมต้นทุนค่าไฟ ด้าน “พลังงาน” ลั่นเล็งปรับขึ้นราคา LPG แบบขั้นบันได้หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาสิ้นเดือนมี.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) วันนี้ (9มี.ค.2565) โดยระบุว่า ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการตรึงราคาดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปจนกว่าจะไม่สามารถตรึงราคาได้ โดยจะพยายามทำให้ให้ดีที่สุด เนื่องจากงบประมาณของรัฐบาลมีจำกัด และที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณไปกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนค่อนข้างมาก

อีกทั้ง ได้ส่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำมาตรการเพื่อรับมือ หากราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปแตะ ในระดับแต่ๆ เช่น แตะ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล , แตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และแตะ 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีแนวทางรับมืออย่างไร รวมถึงดูแลผลกระทบให้กับผู้ใช้รถเบนซินในเฉพาะกลุ่มด้วย

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีความผันผวนและมีราคาสูง ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ตลอดจนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนในการดำรงชีพ และสอดคล้องกับการดำเนินการขยายกรอบวงเงินกู้ยืมเงิน 20,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 วรรคสอง และปรับกลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (Exit Strategy) ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น

ดังนั้น ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เพื่อรองรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพ เนื่องจากความผันผวนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

“กพช.อนุมัติปรับแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันฯ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอขอปลดล็อคเพดานการกู้เงิน ที่เดิมกำหนดให้กู้เงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ แต่กระทรววงพลังงาน ก็มีโจทย์ในใจว่าจะกู้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะแถลงมาตรการรับมือราคาพลังงานแพง ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ LPG และไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นในส่วนของราคา LPG ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ ต้นทุนที่แท้จริงขึ้นไปแตะ 430 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมแล้ว ดังนั้น กระทรวงพลังงานยังยืนยันแนวทางปรับขึ้นราคา LPG แบบขั้นบันได หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาในสิ้นเดือนมี.ค.นี้   

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า กพช. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (Energy Pool Price) ในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวน

โดยมีหลักการนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลและ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคา/ความร้อน (บาท/MMBTU) และช่วยลดภาระค่า Ft ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง

“ปัจจุบัน ใช้น้ำมันดีเซล ผลิตไฟฟ้าราว 10 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 1 รอบFT จะใช้อยู่ 1,200 ล้านลิตร หากนำมาคำนวณตามสูตรใหม่ ก็คาดว่าจะประหยัดต้นทุน FT ได้ราว 6 สตางค์ต่อหน่วย ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้ายังมีความสามารถที่จะใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดอยู่ที่ 20 ล้านลิตรต่อวัน ก็จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟได้บางส่วน”

ส่วนค่าไฟฟ้าในงวดถัดไปจะเป็นอัตราเท่าไหร่นั้น ยังต้องนำทุกมาตรการมาคำนวณรวมกันอีกครั้ง แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ต้นทุนจะขึ้นไปสูงว่า 16 สตางค์ต่อหน่วย หากไม่มีมาตรการใดๆเข้ามาเสริม