กพท. เร่งดันอุตสาหกรรมการบินไทยเป็นฮับในภูมิภาค เปิดประตูการค้าการท่องเที่ยว

ผู้ชมทั้งหมด 237 

กพท. เร่งดันอุตสาหกรรมการบินไทยเป็นฮับในภูมิภาค เปิดประตูการค้าการท่องเที่ยวเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ ร่วมกับ ทอท. บวท. จัดสรร Slot เพิ่มอีกร้อยละ 15 ต่อสัปดาห์ ชี้อินเดียเป็นตลาดสำคัญมีผู้โดยสารทะลักเข้าไทยเพิ่มต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “กลับคืนน่านฟ้ามุ่งหน้าสู่อนาคต” (The 2nd Thai Aviation Industry Conference 2023 : Resume the flight path to the bright future) ผลักดันอุตสาหกรรมการบินประเทศไทยให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและมีการเติบโตอย่างได้มาตรฐานสู่ความยั่งยืน โดยมี นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คณะกรรมการการบินพลเรือน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และผู้แทนจากหน่วยงานระหว่างประเทศ เข้าร่วม

นายมนตรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้จากการบริโภค การจ้างงาน การค้า และการลงทุน ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อนำไปสู่การบูรณาการแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติ และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง(HUB )ด้านการบิน และการขนส่งทางอากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลกในอนาคต

โดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายเรื่องการคมนาคม เปิดประตูการค้าการท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ ใน 3 ระยะ คือ 1. ระยะเร่งด่วนภายใน 1 ปี มอบหมายให้ กพท. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) จัดสรรเวลาการบิน (Slot) เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 ต่อสัปดาห์ พร้อมเร่งรัดให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อรองรับการขยายตัวการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ ทอท. ปรับปรุงพื้นที่อาคารและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารได้สูงสุด

2. ระยะกลาง 1 – 3 ปี มุ่งเน้นถึงการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. สามารถรองรับรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี  และ 3. ระยะยาว 5 – 7 ปี มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ท่าอากาศยานมีข้อจำกัดของการขยายตัว คือ การก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานพังงา (ภูเก็ต แห่งที่ 2) หรือท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดตั้งท่าอากาศยานพาณิชย์ของประเทศที่ กพท. ได้จัดทำไว้ คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 50 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งได้มอบหมายให้ กพท. ทย. และ ทอท. ศึกษาและกำหนดมาตรการเรื่องการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนด และให้ ทย. และ ทอท. พิจารณาการติดตั้งระบบ Solar Cell และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการในพื้นที่ท่าอากาศยาน

ด้าน นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการกทพ. กล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมการบินและแนวทางสู่ความยั่งยืนว่า กทพ. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2571 เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งด้านมาตรฐานสากล ด้านการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้านคุณภาพการบริการ และด้านประสิทธิภาพและการพัฒนาองค์กร อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันแม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่จำนวนผู้โดยสารยังไม่กลับมา 100% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในปี 2566 อินเดียเป็นตลาดสำคัญที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ขณะที่คาดการณ์ว่าในปี 2567 ปริมาณผู้โดยสารในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 74.05 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศจะมีมากถึง 97.48 ล้านคน