นักวิชาการ สะกิดรัฐหนุนลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถ EV ในประเทศ ดันไทยสู่ Hub EV ภูมิภาค

ผู้ชมทั้งหมด 1,543 

นักวิชาการ สะกิดรัฐหนุนลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ลดการนำเข้า สานฝันไทยสู่ Hub EV ในภูมิภาค แนะรัฐต้องหาทางป้องกันการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน

ผศ.ดร.มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน  วิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบปะหารือกับกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยให้ความมั่นใจว่าไทยจะเป็นศูนย์กลาง ( Hub) การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค นั้น ขณะนี้เริ่มมีหลายบริษัทให้ความสนใจเข้ามาลงทุนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศแล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในปี 2573 ตามที่ตั้งเป้าไว้และยังนำไปสู่การเคลมคาร์คอนเครดิตในอนาคตได้อีกด้วย

ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชน มีการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุน และมีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศที่ชัดเจน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือสั่งการถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เรื่องการสนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสำนักงบฯก็ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนถึงทุกหน่วยงานแล้ว  

นอกจากนี้การที่นายกฯนั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ด้วยตนเอง เชื่อว่าจะทำให้เกิดการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นแน่นอน ดังนั้นรัฐต้องระมัดระวังและหาทางป้องกันเรื่องการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายนำเข้ารถจากต่างประเทศโดยสั่งผลิตและประกอบรถที่เน้นต้นทุนต่ำเพื่อทำกำไรสูงๆ แต่เมื่อนำรถไปใช้งานได้ไม่นานก็มีปัญหา แต่ไม่มีชิ้นส่วนและอะไหล่ที่จะมาเปลี่ยนได้ทำให้ใช้งานไม่ได้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดซื้อ

“ต้องยอมรับว่ารถไฟฟ้ายังเป็นเรื่องใหม่โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานราชการ รัฐจึงต้องเข้มงวดทั้งในด้านคุณภาพประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ โดยต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันและช่วยให้องค์กรได้ยานยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ โดยการกำหนดขอบเขตและคุณสมบัติของบริษัทอย่างรัดกุม อาทิ เน้นบริษัทที่มีการผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ มีทุนจดทะเบียนสูงๆเพื่อมีศักยภาพรับผิดชอบในกรณีที่เกิดปัญหา มีการชุบกันสนิม (EDP) เพื่อความแข็งแรงทนทานของรถ มีบริการหลังการขายที่สามารถแก้ไขได้ทันที รวมถึงควรตั้งค่าปรับสูงๆในกรณีที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ที่สำคัญหน่วยงานต้องกล้าขึ้นแบล็คลิสบริษัทที่มีปัญหา เพื่อเตือนหน่วยงานอื่น อย่าเปิดโอกาสให้บริษัทที่ไร้ความรับผิดชอบมาผลาญเงินภาษีประชาชนอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐที่ได้รถไม่มีคุณภาพแล้ว แบตเตอรี่ที่ติดมากับรถอาจจะก่อให้เกิดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กลายเป็นภาระของรัฐต้องใช้งบเพิ่มขึ้นในการกำจัด” ผศ.ดร.มะโนกล่าว

ผศ.ดร.มะโน กล่าวอีกว่า การออกมาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดดีมานต์ตลาดในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นเรื่องดี แต่มองว่าต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะสนับสนุนให้มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ และระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้าในประเทศ อีกทั้งรัฐควรวางมาตรการกำหนดว่า ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ ต้องประกอบด้วยชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 70% ขึ้นไป เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามนโยบายรัฐบาล และลดการนำเข้าชิ้นส่วนจาก ต่างประเทศได้อย่างมาก