กรมการขนส่งทางราง เผยประชาชนใช้บริการระบบรางช่วงสงกรานต์เพิ่มขึ้น 23.20%  

ผู้ชมทั้งหมด 118 

กรมการขนส่งทางราง เผยประชาชนเดินทางด้วยระบบรางช่วงวันหยุดสงกรานต์ 67 สะสม 7 วัน 11 – 17 เมษายน 2567 รวมกว่า 7.83 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 23.20%

วันนี้ (18 เมษายน 2567) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวาน (17 เมษายน 2567) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันหยุดต่อเนื่องของเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีประชาชนใช้บริการระบบรางรวม 1,273,418 คน-เที่ยว ประกอบด้วย 1. รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้บริการรวม 214 ขบวน (รวมขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร 2 ขบวน คือ ขบวนที่ 934 อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์ และขบวนที่ 936 อุดรธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์ รองรับผู้โดยสาร 1,566 คน) มีผู้ใช้บริการรวม 79,456 คน-เที่ยว แบ่งเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 33,502 คน-เที่ยว และผู้โดยสารเชิงสังคม 45,954 คน-เที่ยว

โดยมีผู้โดยสารขาออก 33,628 คน-เที่ยว และขาเข้า 45,828 คน-เที่ยว ซึ่งพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 26,148 คน-เที่ยว (ขาออก 12,162 คน-เที่ยว และขาเข้า 13,986 คน-เที่ยว) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือ 22,353 คน-เที่ยว (ขาออก 8,201 คน-เที่ยว และขาเข้า 14,152 คน-เที่ยว) สายเหนือ 15,663 คน-เที่ยว (ขาออก 6,687 คน-เที่ยว ขาเข้า 8,976 คน-เที่ยว)  สายตะวันออก 10,336 คน-เที่ยว (ขาออก 4,119 คน-เที่ยว ขาเข้า 6,217 คน-เที่ยว) และสายมหาชัยและแม่กลอง 4,956 คน-เที่ยว (ขาออก 2,459 คน-เที่ยว ขาเข้า 2,497 คน-เที่ยว)

2.ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมือง(สายสีแดง) ให้บริการรวม 2,868 เที่ยว  (รวมรถเสริม 40 เที่ยววิ่ง) มีผู้ใช้บริการรวม 1,193,962 คน-เที่ยว ประกอบด้วย Airport Rail Link (เสริม 5 เที่ยว)   59,738 คน-เที่ยว สายสีแดง 26,750 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 61 คน) สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) (เสริม 3 เที่ยว) 59,252 คน-เที่ยว สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน)(เสริม 32 เที่ยว) 370,323 คน-เที่ยว สายสีเหลือง 24,178 คน-เที่ยว สายสีชมพู 41,601 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอสสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม)  606,021 คน-เที่ยว และสีทอง  6,099 คน-เที่ยว โดยไม่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องแต่อย่างใด

นายพิเชฐ กล่าวว่า ยอดสะสม 7 วัน (11-17 เมษายน 2567) มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 7,830,099 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 122 คน-เที่ยว) เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 7 วันเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวน 1,474,613 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.20 (11-17 เมษายน 2566 จำนวน 6,355,486 คน-เที่ยว รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 299 คน-เที่ยว)  แต่น้อยกว่าประมาณการ 246,088 คน-เที่ยว หรือน้อยกว่าประมาณการร้อยละ 3.05 (ประมาณการ 8,076,187 คน-เที่ยว) ประกอบด้วย

1. รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผู้ใช้บริการรวม 564,779 คน-เที่ยว (สะสม 7 วันเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา 80,598 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.65) แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์สะสม 246,361 คน-เที่ยว และผู้โดยสารเชิงสังคมสะสม 318,418 คน-เที่ยว โดยมีผู้โดยสารขาออกสะสม 278,464 คน-เที่ยว และขาเข้า 286,315 คน-เที่ยว ซึ่งพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 197,026 คน-เที่ยว (ขาออก 94,517 คน-เที่ยว และขาเข้า 102,509 คน-เที่ยว) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือ 150,475 คน-เที่ยว (ขาออก 75,202 คน-เที่ยว และขาเข้า 75,273 คน-เที่ยว) สายเหนือ 103,574 คน-เที่ยว (ขาออก 52,493 คน-เที่ยว ขาเข้า 51,081 คน-เที่ยว) สายตะวันออก 65,270 คน-เที่ยว (ขาออก 32,054 คน-เที่ยว ขาเข้า 33,216 คน-เที่ยว) และสายมหาชัยและแม่กลอง 48,434 คน-เที่ยว (ขาออก 24,198 คน-เที่ยว ขาเข้า 24,236 คน-เที่ยว)

2. ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมือง(สายสีแดง)) สะสม 7 วัน มีผู้ใช้บริการสะสมรวม 7,265,320 คน-เที่ยว (สะสม 7 วันเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1,394,314 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.75) ประกอบด้วย Airport Rail Link  382,303 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.01 เมื่อเทียบกับ 7 วันสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมา) สายสีแดง 156,612 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 122 คน)  (เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.89 เมื่อเทียบกับ 7 วันสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมา) สายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) 290,909 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.89 เมื่อเทียบกับ 7 วันสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมา)  สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 2,055,627 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.09 เมื่อเทียบกับ 7 วันสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมา) สายสีเหลือง 173,817 คน-เที่ยว สายสีชมพู 250,691 คน-เที่ยวและรถไฟฟ้าบีทีเอสสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) 3,885,473 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.59 เมื่อเทียบกับ 7 วันสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมา) และสีทอง 69,888 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.41 เมื่อเทียบกับ 7 วันสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมา)

นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับด้านความปลอดภัย พบว่า ตลอดช่วงวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 รวม 7 วัน มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟ 12 ครั้ง ประกอบด้วย เหตุการณ์ขบวนรถชนโค/กระบือ 6 ครั้ง ผู้โดยสารหกล้มขณะก้าวขึ้นขบวนรถ 2 ครั้ง และมีเหตุการณ์คนร้ายขว้างปาก้อนหินใส่ขบวนรถ ต้นไม้ล้มกีดขวางทางเดินรถ รถไฟชนคน และรถไฟชนรถยนต์ในพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง อย่างละ 1 ครั้ง  โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 4 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย (รถไฟชนคนในตอนระหว่างสถานีวัฒนานคร – สถานีสระแก้ว) ส่วนโครงข่ายระบบรถไฟฟ้ามีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง 4 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน เวลา 15.10 น. รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จุดสับรางขัดข้องระหว่างสถานีตลาดมีนบุรีและสถานีมีนบุรี และต่อมาเวลา 17.11 น. รถไฟฟ้าสายสีทอง จุดสับรางขัดข้องระหว่างสถานีคลองสานและสถานีเจริญนคร วันที่ 14 เมษายน 2567 เวลา 13.53 น. เกิดเหตุขบวนรถไฟฟ้า Airport Rail Link ขบวน City 05 ระบบตัวแปลงไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์เสริมขัดข้อง และวันที่ 15 เมษายน 2567 เวลา 14.07 น. รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง เกิดเหตุจุดสับรางขัดข้องระหว่างสถานีกรุงธนบุรี กับสถานีเจริญนคร ฝั่งมุ่งหน้าสถานีปลายทางสถานีคลองสาน

นายพิเชฐ กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นพบว่า มีประชาชนใช้บริการระบบรางภาพรวมเพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมาร้อยละ 23.20 โดยรถไฟระหว่างเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.65 และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.75 โดยพบว่า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานตามนโยบาย “สงกรานต์เดินทางสะดวก ปลอดภัย ไร้รอยต่อ” ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคมให้บริการเชื่อมต่อที่สะดวก ปลอดภัย โดยเฉพาะที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้บริการ 14 เส้นทาง

นอกจากนี้ รถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด  (บขส.) ขาเข้าจอดรับส่งผู้โดยสารที่ประตู 3 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และมีรถ shuttle bus ระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์กับสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 บริการฟรี รวมทั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัดขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการจากเวลา 05.00 น. เป็น 04.00 – 24.00 น. ในวันที่ 11, 12 ,16 และ 17 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นการบูรณาการด้านการขนส่งเป็นเทศกาลแรก

ทั้งนี้ ในด้านความปลอดภัย กระทรวงคมนาคมได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดที่มีทางรถไฟผ่าน โดยไม่มีอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนรถยนต์บนทางรถไฟสายประธานในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้  โดยจะได้นำแนวทางนี้ไปใช้สำหรับวันหยุดต่อเนื่องช่วงเทศกาลในปีต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาหัวรถจักรของขบวนรถไฟชำรุดระหว่างทางที่ให้บริการ ทำให้เกิดความล่าช้า และอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนโค/กระบือ ในเส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งจะได้ประสาน รฟท. พิจารณาซ่อมบำรุงรถจักรให้เป็นไปตามวาระและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนสัตว์ในระยะเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี จะมีการก่อสร้างจุดตัดทางรถไฟต่างระดับ พร้อมทั้งติดตั้งรั้วกั้นสองข้างตามแนวเขตทางรถไฟ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบแล้ว รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนยานพาหนะ/คน/สัตว์ได้อย่างอย่างยืนต่อไป