“สุริยะ” เผยภาพรวมการเดินทางขนส่งสาธารณะ 7 วัน แตะระดับ 17.54 ล้านคน-เที่ยว  

ผู้ชมทั้งหมด 65 

สุริยะ” เผยภาพรวมประชาชนเดินทางขนส่งสาธารณะ 7 วัน เพิ่ม 7.46% พุ่งแตะระดับ 17.54 ล้านคน-เที่ยว ส่วนอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม รวม 1,471 ครั้ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงภาพรวมการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 สะสม 7 วัน (11 – 17 เมษายน 2567) ว่า ทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินงานตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างเคร่งครัดและบุคลากรทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้สามารถรองรับการเดินทาง ไป – กลับภูมิลำเนาของประชาชนได้อย่างสะดวกและปลอดภัยในทุกการเดินทาง ขณะเดียวกันระบบขนส่งสาธารณะทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศสามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอและดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมาก

สำหรับภาพรวมการเดินทางสะสม 7 วัน พบว่าปริมาณการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศอยู่ที่ 17,541,181 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 7.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 44.69% รองลงมาเป็นระบบขนส่งทางถนน 33.02% ถัดมาเป็นทางอากาศ 12.16% และทางน้ำ 10.13% โดยแยกในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 1) ภาคกลาง : ทางอากาศ (ขาออก) 300,184 คน-เที่ยว 2) ภาคใต้ : ทางถนน 202,729 คน-เที่ยว 3)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ทางถนน 216,923 คน-เที่ยว 4) ภาคเหนือ : ทางถนน 126,701 คน-เที่ยว และ 5) ภาคตะวันออก : ทางถนน 121,789 คน-เที่ยว ขณะที่การจราจรเข้า – ออกกรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 6,882,802 คัน เพิ่มขึ้น 1.55% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 10,066,085 คัน ลดลง 2.15%

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานการณ์อุบัติเหตุบนระบบขนส่งสาธารณะ ประจำวันที่ 17 เมษายน 2567 พบว่า รถโดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุ 3 ครั้ง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รถไฟและรถไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ส่วนทางน้ำและทางอากาศไม่เกิดอุบัติเหตุ

สำหรับอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมสะสม 7 วัน รวม 1,471 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 203 คน บาดเจ็บ 1,648 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 891 ครั้ง คิดเป็น 61% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 781 ครั้ง บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 1,043 ครั้ง คิดเป็น 71% จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ นครราชสีมา 12 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 75 ครั้ง ส่วนโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับโครงข่ายทางน้ำ และทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า วันที่ 17 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์และเป็นวันทำงานราชการตามปกติ ยังมีประชาชนบางส่วนเดินทางกลับจากภูมิลำเนาในภูมิภาคต่าง ๆ เข้าสู่กรุงเทพฯ จึงได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางรางประสานการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อจัดขบวนรถเสริมพิเศษช่วยการโดยสาร จำนวน 2 ขบวนในเส้นทางอุบลราชธานี – กรุงเทพอภิวัฒน์ และอุดรธานี – กรุงเทพอภิวัฒน์ รวมทั้งเพิ่มตู้โดยสารเพื่อให้เพียงพอต่อการเดินทางกลับของประชาชน

ขณะที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ขยายเวลาการให้บริการ เป็นเวลา 04.00 – 24.00 น. เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนทั้งที่เดินทางด้วยรถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด และเดินทางด้วยเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำเรื่องการขอความร่วมมือจังหวัดที่มีทางรถไฟผ่านให้จัดอาสาสมัครประจำจุดตัดทางรถไฟหรือทางลักผ่านทางรถไฟเสมอระดับ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุ

ส่วนรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เน้นย้ำให้เพิ่มความถี่ของขบวนรถไฟฟ้าในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น พร้อมทั้งตรวจสอบความสมบูรณ์พร้อมใช้งานของกล้อง CCTV ทั้งในพื้นที่สถานีและในขบวนรถไฟฟ้าและเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำจุดต่าง ๆ ภายในสถานีและเพิ่มความถี่ในการตรวจตรา เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร และจุดจอด จุดตรวจ Checking Point และ Rest Area รวม 221 จุด ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะคาดว่ายังมีประชาชนหยุดยาวต่อเนื่องและเดินทางกลับอีกครั้งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ วันที่ 20 – 21 เมษายน 2567