ขบ.ปรับหลักสูตรอบรมใบขับขี่ใหม่เริ่มมิ.ย.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 311 

ขบ.ปรับหลักสูตรอบรมใบขับขี่ใหม่เริ่มมิ.ย.นี้ เพิ่มเนื้อหาคาดการณ์อุบัติเหตุช่วยวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์อันตราย หวังลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน ให้ขับขี้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

เมื่อวันที่วันที่ 28 เม.ย. ณ ห้องประชุม อาคาร 10 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายชิเกโตะ  คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาการสื่อการเรียนรู้ และการพัฒนาเนื้อหาการอบรมด้านการคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception)

นายจิรุตม์ กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2565 ประเทศไทยยังคงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 17,379 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 26.65 คนต่อแสนประชากร และจากการเก็บข้อมูลจากการสืบสวนอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เชิงลึก พบว่าการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากมีปัจจัยมาจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประเมินสถานการณ์อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้น ขบ.จึงมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยเห็นความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานของผู้ขับขี่และยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการคัดกรองและพัฒนาผู้ขับรถให้สามารถขับขี่บนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย

ดังนั้นขบ.จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด  ในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบ “วีดิทัศน์การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception)” โดยหน่วยงานเอกชนทั้งสองจะให้ความร่วมมือสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในการผลิตสื่อการเรียนรู้ทั้งกรณีผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception) และเสริมสร้างความรู้และทักษะในการคาดการณ์เชิงป้องกันอุบัติเหตุ

นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า ขบ.จะนำสื่อวีดิทัศน์การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception)” ตลอดจนเนื้อหาเรื่องการคาดการณ์อุบัติเหตุที่พัฒนาตามหลักวิชาการสากลร่วมกับผลการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนถนนตามบริบทของประเทศไทย บรรจุในกระบวนการขอรับใบอนุญาตขับรถของ ขบ. เพื่อนำไปใช้ในการอบรมให้ความรู้กับผู้ที่จะขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ โดยหน่วยงานในสังกัดขบ. และโรงเรียนสอนขับรถ ที่ขบ.ให้การรับรอง รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์ในการให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ

ทั้งนี้เนื้อหาที่เพิ่มเติมเข้ามาจะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถประเมินสถานการณ์อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นบนถนนที่ผู้ขับขี่อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ความเสี่ยงอันตรายที่หลากหลาย ทั้งจากรถคันอื่น คนเดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน สภาพถนน สัตว์หรือสิ่งของรวมทั้งสภาพอากาศ เป็นต้น  โดยจัดทำเอกสารคู่มือการอบรมเรื่องการคาดการณ์อุบัติเหตุ พร้อมทั้งชุดข้อสอบความรู้สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ผู้ขับขี่ทุกคนจะได้มีการเรียนรู้ ซึ่งจะมีผลอย่างสมบูรณ์ในกระบวนการเรียนรู้สำหรับผู้ที่จะขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ภายในเดือนมิ.ย.66 นี้

นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า รูปแบบของวีดิทัศน์การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception) มีจำนวน 30 ตอน แบ่งเนื้อหารายละเอียดตามหัวข้อ ได้แก่ การคาดการณ์อุบัติเหตุ ตัวอย่างสถานการณ์การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception), การขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุ (Defensive Driving),ข้อแนะนำในการขับรถที่ถูกต้อง (Driving Tip)  ทักษะด้านการรับรู้ความเสี่ยง (Risk Perception) ของผู้ขับรถยนต์ที่มีต่อสถานการณ์การจราจรต่างๆ โดยวีดิทัศน์ดังกล่าวจะทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ขับขี่ทุกคน ได้รับความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งความปลอดภัย “Safe Mobility Society” ในอนาคต

นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้ามีความมุ่งมั่นมากว่า 34 ปี ในการส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัยในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ Honda Safety  Thailand ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ที่ช่วยฝึกทักษะการขับขี่ที่ถูกต้อง พร้อมปลูกจิตสำนึกและสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ปลอดภัย เพื่อเป้าหมายลดอุบัติเหตุและสร้างสังคมไทยสู่ Zero Accident Society ให้ได้ในอนาคต ซึ่งฮอนด้าได้พัฒนารูปแบบอนิเมชั่นเป็นการจำลองสถานการณ์จริงในวิดีโอจำนวน 30 เคสอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น