คมนาคม เร่งลงทุนรถไฟทางคู่รองรับรถไฟสายสิงคโปร์-คุณหมิง เชื่อมโยง 5 ประเทศ

ผู้ชมทั้งหมด 12,116 

คมนาคม เดินหน้าพัฒนาระบบรางหนุนไทยเป็นฮับด้านการขนส่งของภูมิภาคอาเซียน เร่งลงทุนรถไฟทางคู่ รองรับรถไฟสายสิงคโปร์-คุณหมิง เชื่อมโยง 5 ประเทศ คาดมีมูลค่า GDP กว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา 4th iTIC FORUM 2023 : Power of Connectivity and Smart Mobility ว่า การสัมมนาและนิทรรศการในวันนี้ สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมตามบทบาทภารกิจที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ผ่านการบูรณาการเชื่อมต่อร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมการขนส่ง (ฮับ) ภูมิภาค 

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า และการท่องเที่ยวที่สอดรับกับการพัฒนาการเชื่อมโยงกับกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มจาก 627 กิโลเมตรเป็น 3,400 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ ซึ่งจะช่วยกระจายความเจริญของเมืองไปสู่ภูมิภาค เกิดการพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี รวมทั้งสร้างโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการเหล่านี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์ทางภูมิศาสตร์ของประเทศในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระดับภูมิภาคจากเอเชียตะวันออกถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สู่การผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านคมนาคมการขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้การที่ไทยจะเป็นฮับด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้นั้น ต้องเร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (เฟส 2) ซึ่งมี 7 เส้นทาง รวมระยะทาง 1,479 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 275,303.78 ล้านบาท ซึ่งการเร่งผลักดันรถไฟทางคู่เฟส 2 เพื่อรองรับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ที่เชื่อมโยงทางรถไฟ 5 ประเทศ รวมระยะทางประมาณ 4,500 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, ลาว และจีน ซึ่งจะมีประชากรกว่า 1,700 ล้านคน ที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดมูลค่า GDP กว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 นั้นปัจจุบันออกแบบเสร็จแล้วทั้ง 7 เส้นทาง โดยมี 1 เส้นทางที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 คือ เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางในเฟส 2 ที่มีความสำคัญในลำดับแรก เนื่องจากเป็นเส้นทางตามยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้

ส่วนที่เหลืออีก 6 เส้นทางคาดว่าจะสามารถเสนอครม.ได้ภายในปีนี้ ซึ่งประกอบด้วย เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท, เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท, เส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท, เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,29.36 ล้านบาท, เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท และเส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการลงทุนพัฒนารถไฟทางคู่ทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570

ด้านนายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า โอกาสของไทยในการเป็นฮับด้านการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียนนั้น นอกจากลงทุนสร้างระบบรางให้เป็นทางคู่แล้ว ต้องพัฒนาควบคู่กับการลงทุนพัฒนาสมาร์ทเทคโนโลยีมาใช้กับระบบราง ซึ่งรฟท.มีแผนที่จะลงทุนใช้หัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน โดยหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่สามารถรากได้ตู้สินค้าได้ 2,500 ตันต่อ 1 ขบวน  

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ระบบโลจิสติกส์ที่มีความสำคัญและเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด คือ ระบบราง หรือการขยส่งด้วยรถไฟ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นส่วนใหญ่อยู่บนบก มีพื้นที่ติดทะเลส่วนน้อย ดังนั้นระบบรางจึงสำคัญมากสำหรับประเทศไทย ขณะเดียวกันระบบรางก็เป็นระบบการขนส่งที่ดีมีประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุนการขนส่ง และปลอดภัย หากรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะเป็นประโยชน์มากในการเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ไปยังประเทศจีน จะเห็นการขนถ่านคนและสินค้าจำนวนมากประเทศไทยได้รับประโยชน์เต็มๆ เพราะจากจีนสามารถเชื่อมไปยังยุโรป แอฟริกาได้ ซึ่งก็จะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย