ลุ้น! ทอท.ผู้โดยสารปี 65 ฟื้นตัว 33% ปีหน้าผู้โดยสาร 96 ล้านคน

ผู้ชมทั้งหมด 932 

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เมื่อปี 2563 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้เห็น ทอท.ประสบปัญหากับการขาดทุนสุทธิในปี 2564 ราว 16,322 ล้านบาท และในปี 2565 ผ่านไป 3 ไตรมาสยังขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 9,755 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า ผลการดำเนินงานในปี 2565 ฟื้นตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่เป็นจุดต่ำสุดของ ทอท. ขาดทุนสุทธิ 16,322 ล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรวมปีงบประมาณ 2565 ของท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวม 45 ล้านคน ฟื้นตัว 33%

ส่วนปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นปีที่ 43 ของ ทอท. คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวมทั้ง 6 สนามบินของ AOT จำนวน 96 ล้านคน ฟื้นตัว 68% เมื่อเทียบกับระดับผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด-19 และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2567 ที่จำนวน 142 ล้านคน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(International Air Transport Association : IATA) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และ S&P Global ได้คาดการณ์ไว้

ดังนั้น จึงถือได้ว่าในปีที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นปีที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ ทอท. ต้องเฝ้าระวังปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการเดินทางของผู้โดยสาร เช่น นโยบายการเปิดประเทศของจีน โอกาสการกลับมาระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หรือโรคระบาดอื่นๆ เป็นต้น โดยนโยบายการเปิดประเทศจีนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทอท. สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 141.87 ล้านคน ดังนั้น ไม่ว่าปริมาณผู้โดยสารจะฟื้นตัวกลับมาในปีไหน ทอท. ก็ยังคงพร้อมให้บริการอยู่เสมอ เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่เคยลดคุณภาพการให้บริการ ไม่เคยลดจำนวนพนักงาน อีกทั้งยังคงมีการฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงการต่อใบอนุญาตตามมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทอท. มีความมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการและอำนวยความสะดวกผู้โดยสารด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนบริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง”

นายนิตินัย กล่าวว่า เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร ทอท.มีการเตรียมความพร้อมของอาคารสถานที่มาโดยตลอด ซึ่งในปีที่ 43 ทอท. ยังเดินหน้าพัฒนาการให้บริการในทุกด้านให้มีประสิทธิภาพและดียิ่งขึ้น เช่น ทสภ.อยู่ระหว่างทดสอบระบบต่างๆ ของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) เพื่อเตรียมเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสาร ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ.ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งมีความก้าวหน้า 40% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 เพื่อรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงและรองรับเที่ยวบินในช่วงที่มีการปิดซ่อมทางวิ่งเส้นที่ 1 และเส้นที่ 2

ส่วนที่ ทดม. ได้เปิดใช้งาน Taxi Drop Lane เมื่อวันที่ 1 สิ่งหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเพิ่มช่องจราจรแยกเฉพาะรถแท็กซี่ จำนวน 2 เลน ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดหน้าอาคารผู้โดยสาร และ ทชร.อยู่ระหว่างก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือ และปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul : MRO) และปรับปรุงพื้นที่หัวทางวิ่งด้าน 03 และ 21 เป็นต้น

นอกจากการพัฒนาสนามบินที่ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทแล้ว ทอท. พร้อมก้าวเข้าสู่การบริหารยุคนวัตกรรมที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและการดำเนินการ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลมากมายที่กระจายอยู่ทั่วองค์กรมาทำการศึกษาข้อมูล นำไปวิเคราะห์โดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ทำความเข้าใจให้ทุกส่วนเชื่อมโยงกัน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การบริหารจัดการและให้บริการในโลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบภายใต้โครงการ AOT Digital Platform ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการด้วยความสะดวกสบาย ปลอดภัย และรวดเร็ว ทั้งด้านการเดินทางและการรับ-ส่งสินค้าทางอากาศ