บางจาก ชู “คลีน โมเลกุล” ทางเลือกพลังงานสะอาด ผุดโรงงานผลิตน้ำมัน SAF

ผู้ชมทั้งหมด 623 

บางจาก ชู “คลีน โมเลกุล” ทางเลือกพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ผุดโรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (SAF) เดินหน้าแล้ว 30% คาดเสร็จปลายปี 67 ผลิตได้ต้นปี 68 สายการบินทุกแห่งจ่อใช้

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ณ ห้องประชุมใบไม้ ชั้นที่ 8 อาคารเอ็ม ทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่ บริษัท บางจาก นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเปิดงานสัมมนา Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” ว่า ที่ผ่านมากลุ่มบางจากให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนเรื่อง กรีน อิเล็กตรอน หรือ อิเล็กตรอนสีเขียว คือ ไฟฟ้าที่ปั่นมาจากแสงแดด สายลม แต่วันนี้มองว่าน่าจะมีทางเลือกเพิ่มเติม จึงได้นำเสนอเกี่ยวกับพลังงานที่ถูกจัดเก็บในรูปแบบของเหลว เพื่อตอบโจทย์การใช้พลังอย่างยั่งยืน หรือเรียกว่า “คลีน โมเลกุล” คือ พลังงานเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาแหล่งพลังงานธรรมชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง ไม้ ผัก หญ้า หรือ น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วนำมารีไซเคิลผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงของเหลวหมุนเวียนและสามารถใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้จริง

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า บางจากได้เริ่มพัฒนา คลีนโมเลกุล จากโครงการทอดไม่ทิ้ง โดยการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil) ซึ่งรับซื้อมาจากผู้ผลิตรายใหญ่ และนำมารีไซเคิลเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันใช้แล้วที่มีความคืบหน้าประมาณ 30% คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงหลายปี 2567 และน่าจะสามารถเดินเครื่องการผลิตน้ำมันได้ในช่วงต้นปี 2568 คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันสำหรับใช้กับเครื่องบินได้วันละประมาณ 1 ล้านลิตร ซึ่งเวลานี้ทุกสายการบินก็พร้อมที่จะใช้น้ำมันดังกล่าวแล้ว โดยเครื่องบินที่บินผ่านเข้าออกประเทศไทย จะถูกบังคับให้เติมน้ำมันของบางจาก 5% อยู่แล้วก็น่าจะรองรับได้พอดี แต่หากมีการเพิ่มสัดส่วนก็คงต้องสร้างโรงงานเพิ่ม ทั้งนี้ในปี 2050 ทางสหภาพยุโรปให้ผสมได้ 65% แต่ขณะนี้เปลี่ยนใหม่เป็น 70% แล้ว คงต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง

“บางจากน่าจะเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วนำมารีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน จึงถือเป็นการเข้าสู่พลังงานสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อให้โลกสีเขียวและน่าอยู่มากขึ้น ที่สำคัญยังจะส่งผลให้ไทยเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ได้เร้วขึ้นด้วย” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องค่าการตลาดน้ำมันในกลุ่มเบนซินและดีเซลทั่วไปไม่ว่าจะเป็น ดีเซลบี7 ,แก๊สโซฮอล์95 E10 ก็ไม่เคยเห็นว่ามีค่าการตลาดสูงถึง 4 บาท โดยเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 1-2 บาทต่อลิตรเท่านั้น ส่วนจะมีการใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมค่าการตลาดหรือไม่เรื่องนี้ยังไม่ทราบ แต่ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน เช่น โครงสร้างภาษีต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาเป็นหลักบาท ซึ่งค่าการตลาดที่เคลื่อนไหวขณะนี้ขึ้นลงอยู่ในหลักสตางค์เท่านั้น แต่หากมีการปรับค่าการตลาดลงมากอาจจะส่งผลกระทบต่อดีลเลอร์ปั้มน้ำมันส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้