“สุริยะ” ลั่นต้องไม่มีทุจริตในยุคนี้ จ่อเพิ่มโทษปรับรถบรรทุกน้ำหนักเกินสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท 

ผู้ชมทั้งหมด 197 

คมนาคม” จ่อเพิ่มโทษปรับรถบรรทุกน้ำหนักเกินสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท พร้อมเร่งสางปัญหาส่วยสติกเกอร์ทางหลวง “สุริยะ” ลั่นต้องไม่มีทุจริตในยุคนี้เด็ดขาด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พร้อมด้วยตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเข้าร่วมด้วยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้  ซึ่งจากข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบพบว่ามีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจริง และมีข้อบกพร่องในโครงสร้างและกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมาย จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น ผลักดันการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายสุริยะ กล่าวว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต โดยได้เน้นย้ำว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติอย่างรอบด้าน ดังนี้ 1. ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีโทษปรับในอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขบทเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิด จากเดิมหากบรรทุกน้ำหนักเกินจะถูกปรับไม่เกิน 10,000บาทจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับ จะแก้ไขให้มีโทษปรับเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ 10,000-200,000 บาท ส่วนขั้นตอนกระบวนการแก้กฎหมายรอเสนอสภา ผู้แทนราษฎรก่อนจะประการกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับภายใน 1 ปี

2. เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยการเพิ่มความถี่ อัตรากำลัง ยานพาหนะ ในการติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินของตำรวจและกรมทางหลวง ในส่วนของรถบรรทุกที่วิ่งเข้าในเขต กทม.และปริมณฑล ที่มีหลายฝ่ายสังเกตุว่าวิ่งเข้ามามาก และ เกือบทุกช่วงเวลานั้น เพื่อให้การควบคุมเป็นไปประสิทธิภาพ

3. นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน อาทิ การนำเทคโนโลยี AI พร้อมกล้อง CCTV มาช่วยประเมินรถบรรทุกที่มีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับกองบังคับการตำรวจทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เพื่อช่วยในการติดตามจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล Call Center เรื่องร้องเรียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

“ขอยืนยันว่าในยุคที่ผมดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมจะไม่มีเรื่องส่วยทางหลวงอย่างเด็ดขาด หากมีการนำเทคโนโลยี และ แก้ไขกฎหมายเรื่องปรับบทเทียบปรับสูงขึ้น มั่นใจว่าจะไม่มีผู้ประกอบการรายใด ที่จะกล้ากระทำความผิด เพราะไม่คุ้มที่จะเสียเงินจำนวนมาก หากทำสำเร็จจะช่วยลดงบประมาณการซ่อมบำรุงภาครัฐโดยเฉพาะกรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท(ทช)ลงได้จากที่ปัจจุบัน ทล.ต้องใช้งบซ่อมแซมถนนพังกว่า 20,000 ล้านบาท ทช.กว่า 18,000 ล้านบาท”นายสุริยะ กล่าว

ด้าน นายสราวุธ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการแก้ พ.ร.บ.ทางหลวง พศ.2535 แก้ไข ปี 49 มาตรา 61ที่บัญญัติว่า น้ำหนักรถบรรทุกต้องไม่เกินกำหนด หากฝ่าฝืนจะผิด ตามมาตรา 73/2 โดยจะมีบทลงโทษ 10,000 บาทหรือทั้งปรับและจำคุกไม่เกิน6เดือน ก็จะแก้ตามมาตรา73/2 เพิ่มบทลงโทษปรับให้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มมากขนาดไหนต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้ง  ขณะเดียวกันระหว่างการแก้ไขทางหลวงก็จะใช้เทคโนโลยีมาใช้ร่วมในการปราบปราม กวดขัน ควบคู่ไป รวมถึงนำเทคโนโลยี AI และกล้อง CCTV มาช่วยประเมินรถบรรทุกที่มีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน พร้อมบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบ GPS ของ ขบ. ร่วมกับกองบังคับการตำรวจทางหลวง และ ทช. เพื่อช่วยในการติดตามจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และเชื่อมโยงฐานข้อมูล Call Center เรื่องร้องเรียนรถบรรทุกน้ำหนักเกินด้วย