“บ้านปู” หนุน BC4C รุ่น 11 สะท้อนสำนึกการมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตให้เด็กไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผู้ชมทั้งหมด 678 

วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี ถูกกำหนดเป็น “วันประชากรโลก (World Population Day)” เพื่อให้เกิดความตระหนักในประเด็นของประชากรโลก ส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้สิทธิพื้นฐาน รู้จักการวางแผนครอบครัวซึ่งจะนำไปสู่การมีประชากรโลกที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทว่าในปัจจุบัน เราได้เห็นแนวโน้มการเกิดใหม่ของประชากรโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจาก World Population Data Sheet ฉบับล่าสุดปี 20211 รายงานว่าอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมทั่วโลกคือ 2.3 ต่อผู้หญิง 1,000 คน ลดลงจากปี 1990 ที่เคยอยู่ในระดับ 3.2 คน และประเทศไทยยังติดอันดับ 10 ประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเด็กเกิดใหม่จำนวนลดน้อยลงไปจากสมัยก่อน แต่สิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักคือ จะทำอย่างไรให้เด็กที่เกิดมาแล้วสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพตามสิทธิและโอกาสในแบบที่ควรจะเป็น

คุณปรียสรณ์ อาศรัยราษฏร์ ตัวแทนจากทีม ลูกทำได้ กิจการเพื่อสังคมที่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กเพื่อการเติบโตอย่างมีศักยภาพดีที่สุดตามช่วงวัย ซึ่งเป็น 1 ใน 7 กิจการที่ผ่านเข้ารอบ “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C” รุ่นที่ 11 ให้ความเห็นว่า “ความเป็นประชากรของโลกใบนี้เริ่มต้นตั้งแต่แรกวันแรกที่เราลืมตาดูโลก ซึ่งช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่สำคัญทั้งต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ ฉะนั้น การเลี้ยงดูที่ดีเพื่อส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการตามวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญและสิทธิพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับจากผู้ปกครอง”

การเลี้ยงเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเลี้ยงให้ดีและเสริมสร้างพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามวัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในช่วงหลายปีมานี้พบว่าเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้า ไม่สมวัย ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก “เราเป็นแม่คนหนึ่งที่เลี้ยงลูกเอง ที่ผ่านมาเราและกลุ่มเพื่อนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มักพบกับคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกอยู่เสมอแทบจะทุกวัน บางครั้งก็เกิดความกังวลเพราะไม่แน่ใจว่าอาการที่ลูกเป็นหรือลักษณะต่างๆ ที่ลูกแสดงออกนั้นสมวัยหรือมีอะไรที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ หรือบางอย่างเราอาจละเลยการจัดการไปเพราะความไม่รู้ จะเข้าหาหมอตลอดก็เป็นไปไม่ได้ อีกทั้งระบบสาธารณสุขของไทยยังเป็นการเน้นเชิงตั้งรับแก้ไข ไม่ใช่การป้องกัน เราจึงอยากหาวิธีที่ทำให้เหล่าบรรดาพ่อแม่มีที่ปรึกษาใกล้ตัวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการลูกให้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของ “ลูกทำได้” โปรแกรมให้คำปรึกษาผ่าน Chat Bot จากทีมคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อเป็นตัวช่วยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเด็กในแต่ละช่วงวัย พร้อมช่วยเสริมศักยภาพและ ปิดช่องว่างความกังวลที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพบเจอได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยแนะนำ ช่วยสังเกตพัฒนาการของเด็กเพื่อที่จะสามารถลดปัญหาความล่าช้าของพัฒนาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เหมือนเรามีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กอยู่ใกล้ตัวเราตลอดเวลา ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ทำให้คนทุกกลุ่มไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญได้”

เด็กอีกกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและมักถูกสังคมมองข้ามคือ “กลุ่มเด็กพิการ” นอกจากเรื่องของพัฒนาการ พวกเขายังต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คนทั่วไปอาจไม่มีโอกาสได้รับรู้ คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล จากทีม ปลากด ซึ่งทำงานด้านการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคนพิการและสร้างชุมชนที่คนพิการและคนทั่วไปจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้มาเป็นระยะเวลากว่า10 ปี เล่าให้เราฟังว่า “ถ้าพูดกันถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงประชากรกลุ่มอื่นๆ และหลงลืมกลุ่มคนพิการไปยิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อพูดถึงคนพิการ คนในสังคมมักไม่ได้แบ่งแยกกลุ่มคนพิการที่มีปัญหาแตกต่างกัน แต่เหมารวมว่าพวกเขาคือคนพิการ”

ข้อมูลจากยูนิเซฟ2 ระบุว่าในปี 2564 ทั่วโลกมีเด็กพิการมากถึง 240 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของเด็กทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยมีเด็กพิการเกือบ 140,000 คน โดยกว่าร้อยละ 27 ของกลุ่มเด็กพิการในไทยไม่ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพ “กลุ่มเด็กพิการเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เราได้ทำงานด้วย ซึ่งเด็กหลายคนที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่ยังขาดการทำกายภาพที่เหมาะสมและขาดแรงจูงใจในการทำ เนื่องจากพวกเขาคือ “เด็ก” บางครั้งก็มีความอยากไปเล่นมากกว่าทำกายภาพบำบัดเป็นธรรมดา พวกเราจึงออกแบบนวัตกรรมทำให้สามารถกายภาพบำบัดไปด้วยและมีความสนุกไปพร้อมๆ กัน อย่างชื่อทีมเราก็มาจากอุปกรณ์ตัวแรกที่เราพัฒนา คือเป็นรูปปลาที่มีปุ่มกดที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างมือและนิ้วจึงออกมาเป็นชื่อปลากด ซึ่งพ้องเสียงกับ    คำว่าปรากฏการณ์ด้วย นอกจากนี้เรายังทำจอยบังคับเกมให้กลายเป็นอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ทำให้ผู้เล่น    ได้เคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับรับความสนุกและสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว เพื่อน พี่น้องซึ่งถือเป็นการสร้างกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการเติบโตของเด็กไปพร้อมกัน” คุณฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบัน ทั้ง 2 กิจการ และเพื่อนๆ กิจการเพื่อสังคมรวมทั้งหมด 7 กิจการกำลังอยู่ในกระบวนการบ่มเพาะเพื่อพัฒนาแผนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ผ่าน “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C รุ่นที่ 11 โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย                              ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่บุกเบิกและบ่มเพาะเหล่ากิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องมากว่าทศวรรษ

คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูในฐานะผู้ดำเนินโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ยังคงมุ่ง ต่อยอดการเติบโตของ SE ที่มีศักยภาพในไทยให้ดำเนินกิจการและพัฒนาต่อไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างแท้จริงและการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืนตามกรอบสากล (Sustainable Development Goals: SDGs) หนึ่งในมิติสำคัญคือเรื่องของการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น กลุ่มของเด็กและเยาวชนก็ต้องการสิ่งเหล่านี้เช่นกัน นั่นจึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่เรามีกิจการเพื่อสังคมในโครงการ BC4C รุ่น 11 ที่มองเห็นความสำคัญและพยายามพัฒนากิจการของตนมาร่วมตอบโจทย์ความยั่งยืนดังกล่าว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 2 กิจการจะประสบความสำเร็จและเป็นส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิต           ของประชากรไทยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กให้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ”

กิจการของพวกเขาเหล่านี้จะเดินทางไปสู่ฝั่งฝันหรือไม่ ติดตามการเติบโตและการแข่งขันที่เข้มข้นของผู้เข้ารอบ 7 ทีมสุดท้ายในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม รุ่นที่ 11 หรือ Banpu Champions For Change (BC4C#11) ได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions