ปตท.คาดรายได้ปี65โตขึ้นจากปี64 รับปัจจัยบวกราคาน้ำมันดิบพุ่ง

ผู้ชมทั้งหมด 1,004 

ปตท.ประเมินผลการดำเนินงานปี65 คาดว่ารายได้ทั้งปีจะเติบโตสูงกว่า 64 จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 81-86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เตรียม FID ตั้งโรงงานสร้างแพลตฟอร์มผลิตรถอีวี ในไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะที่กลุ่ม ปตท. ตั้งงบ 5 ปี วงเงิน 9.4 แสนล้านบาท รุกพัฒนานวัตกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ ปตท.ในปี 2565 คาดว่า รายได้จะเติบโตมากกว่าปี 2564 ที่มีรายได้อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยปีนี้ อยู่ที่ระดับ 81-86 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล จากปี 2564 ราคาอยู่ที่ 69.2  ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ค่าการกลั่น(GRM) ปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 5.4-6.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.4 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและความต้องการใช้ที่คาดว่าจะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ โดย IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโต 5.9% ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 4.4% แต่เศรษฐกิจไทย คาดว่าจะเติบโต 4.4% จากปีก่อนอยู่ที่ 1.6%

“ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในช่วงขาขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ไตรมาส1ปีนี้ ปตท.มีกำไรจากสต็อกน้ำมัน เพราะช่วง 2เดือนแรกของปีนี้ ราคาน้ำมันดิบก็สูงกว่าไตรมาส4 ที่ผ่านมาแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ทิศทางราคาน้ำมันยังต้องเกาะติดสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งหากสู้รบรุนแรง ราคาอาจขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ขณะที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบจากจัดหาน้ำมัน โดยยืนยันว่าปตท.สามารถบริหารจัดการไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันในประเทศไทย เนื่องจากแหล่งซื้อน้ำมันอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สู้รบในยูเครน แต่ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นคงหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่หากกรณีสหรัฐฯเลิกมาตรการคว่ำบาตรประเทศอิหร่าน จะส่งผลให้ให้กำลังผลิตน้ำมันมีเพิ่มขึ้นในระบบ ซึ่งอิหร่านอาจจะผลิตน้ำมันออกมาได้ปลายปีนี้ และราคาน้ำมันอาจปรับตัวลงได้บ้าง

ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนราคาน้ำมันดิบนั้น ปตท. อยากเสนอแนะให้ใช้มาตรการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำมัน เช่น หากประหยัดการใช้ดีเซลได้ 10% จากราคาจำหน่ายประมาณ 30 บาทต่อลิตร ก็จะช่วยให้ประชาชนประหยัดได้ถึง 3 บาทเป็นต้น

นอกจากนี้  เหตุขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อก๊าซธรรมชาติหรือไม่นั้น ปตท.มองว่า รัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซฯ อันดับ 5-6 ของโลก แม้รัสเซียจะไม่ส่งออกก๊าซฯไปยุโรปเพื่อตอบโต้ประเทศสมาชิกยุโปร(EU)และสหรัฐฯ ก็ยังไม่กระทบกับประเทศไทย เนื่องจากไทยซื้อก๊าซฯในพื้นที่ห่างไกลจากการสู้รบ ดังนั้นยืนยันว่า ปตท.สามารถจัดหาก๊าซฯรองรับความต้องการใช้ในประเทศและไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซฯได้ แต่ผลกระทบจากด้านราคาคงหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน แต่การที่ ปตท.มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาว 5.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งช่วยลดผลกระทบด้านราคาก๊าซฯได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ปตท.ได้นำเข้า Spot LNG มาแล้ว 2 เดือน คือ (มค.-ก.พ.2565) อยู่ที่ประมาณ 6 แสนตัน และเดือนมี.ค.อยู่ระหว่างพิจารณาปริมาณการนำเข้า โดยระดับราคาที่นำเข้าเดือน ก.พ. 2565 อยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และในเดือน มี.ค. 2565 ปตท.ได้ทำสัญญาจองซื้อ LNG ก่อนแล้ว ทำให้ได้ราคาประมาณ 26.5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า กลุ่ม ปตท.ยังเดินหน้าการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยตามแผนงานและงบลงทุน 5 ปี กลุ่ม ปตท.(ปี2565-2569) รวมกว่า  9.4 แสนล้านบาท ตามกรอบวิสัยทัศน์  “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต”  ขณะที่แผนการลงทุนฯ 5 ปี ของ ปตท.(ปี2565-2569) อยู่ที่ 102,165 ล้านบาท โดย 80% ยังขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก เช่น โรงแยกก๊าซฯ,ท่อส่งก๊าซฯ คลังLNG และท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ส่วนลงทุนที่เหลือราว 20% เป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งในส่วนของธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนรายได้แตะ 30% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5% และอีก70% เป็นรายได้จากธุรกิจเดิม  

โดยตามแผนลงทุน 5 ปีตามวิสัยทัศน์ใหม่ ในส่วนของ Future Energy ปตท.จะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า  รุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยมี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นแกนหลัก ด้วยเป้าหมาย 12 กิกะวัตต์ ในปี 2573 (ค.ศ.2030) พร้อมจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) บริษัทร่วมทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทย

ปตท.คาดว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ จะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID) เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโรงงานพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตรถEV ได้ และเริ่มการผลิตในปีไตรมาส1ปี67 กำลังผลิตเฟสแรก 50,000 คัน และผลิตเฟส 2 อีก 150,000 คันต่อปีในปี73 ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกันซึ่งมีอยู่หลายรายที่สนใจ”

รวมถึง จัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อเป็น หลักขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท. โดยร่วมทุนกับ GPSC ในการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain) นอกจากนี้ ได้จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริม และสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศ อาทิ บริการให้เช่า EV  บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีซ่อมบำรุง EV

นอกจากนี้ ARUN PLUS ยังได้จำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ในทำเลศักยภาพ พร้อมขยายสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ของ Swap & Go ตลอดจนจัดตั้ง บริษัท รีแอค จำกัด (ReAcc) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน  ช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้งานพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ 

ส่วน Beyond ปตท.จะ รุกธุรกิจใหม่ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก ด้วยการเข้าสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science)  โดยมี บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มั่นคง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อินโนบิก ได้ร่วมนำเข้าและบริจาคยาเรมเดซิเวียร์ 12,000 ขวด และยาฟาวิพิราเวียร์ 1.2 ล้านเม็ด ให้กับประเทศเพื่อดูแลประชาชน 

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังมุ่งเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมันและเสริมสร้างธุรกิจไลฟ์สไตล์ ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization)

“ปีนี้ ปตท.ยังมองโอกาสขยายการลงทุนทั้งการร่วมทุน การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ(M&A) อย่างต่อเนื่อง แต่จะเป็นธุรกิจใดนั้น หากมีความชัดเจน จะประกาศให้ทราบต่อไป”